พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่นเนื่องในวันสตรีสากล
วันที่ 8 มี.ค. 66 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล หน่วยงาน และองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 จํานวน 15 สาขา 58 รางวัล และมอบรางวัลเกียรติยศแก่คุณหญิงณัฐิกา วัฒนเวคิน อังอุบลกุล ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสตรีอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแบบอย่างที่ดีของสังคม โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน นอกจากนี้ เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กับศูนย์คุณธรรม และร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือการเปิดตัว Application ALLY นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (มุ่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อต้านความรุนแรงทางเพศ) ระหว่าง ALLY กับองค์กรภาคธุรกิจ ทั้งนี้มี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) คณะผู้บริหารกระทรวง พม. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่าย อพม. เข้าร่วมงาน รวมจำนวน 250 คน ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวง พม. สะพานขาว กทม.
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวง พม. กล่าวว่า ในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผมขอแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับทุกหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ซึ่งได้ดำเนินงานเพื่อเสริมพลังสตรีและเด็กหญิง และเป็นเรื่องที่สังคมรับรู้ เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของทุกท่านเหล่านั้น และเราพร้อมร่วมเป็นภาคีกับทุกท่าน ทุกองค์กร ในการสืบสานและสร้างสรรค์คุณงามความดีที่ได้กระทำไว้สืบต่อไป สำหรับวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิงร่วมสร้างสรรนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” เพื่อให้สตรีทุกช่วงวัยได้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่า และคุณค่าด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ภายในปี 2570 โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงไปพร้อมกันทั่วสังคม
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาศักยภาพสตรีส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิง จึงจัดงานวันสตรีสากลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเสริมสร้างกำลังใจให้แก่สตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรดีเด่น อีกทั้งยังมุ่งมั่นผลักดันพลังของสตรีให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำหรับการจัดงานสตรีสากลในปีนี้ พม. มุ่งมั่นที่จะเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับทุนมนุษย์ของสตรี เพื่อนำพาประเทศสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีตัวอย่างของสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรที่มีชื่อเสียงที่ได้ผ่านเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าเป็นบุคคลที่มีผลการทำงานเพื่อสังคมและเป็นผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาศักยภาพสตรี ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตรี บุคคล และองค์กรอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเสมอภาค อาทิ คุณฐาปนีย์ เอียดศรีไชย สาขาสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน (ประเภทสื่อวิทยุโทรทัศน์) หน่วยงานดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรเอกชน ได้แก่ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และรางวัลเกียรติยศแก่สตรีดีเด่น ได้แก่คุณหญิงณัฐิกา วัฒนเวคิน อังอุบลกุล ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสตรีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีบูธนิทรรศการแสดงผลงานด้านนวัตกรรมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนประเทศไทย (AWEN THAILAND) กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA สมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย บริษัท TikTok ลาซาด้า และแอพ ALLY by ila รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ที่นำนวัตกรรมในการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมถึงผู้เปราะบางทางสังคม เช่น แอพคุ้มครองเด็ก Family Line เพื่อนครอบครัว ไม้เท้าไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุ “Brain Racing” เกมแข่งรถควบคุมด้วยสัญญานสมองของคนพิการ ระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ MSO-LOGBOOK แสดงผลิตภัณฑ์ผ้าและการทอผ้าแบบเข้าเอว ระบบจองบ้าน ระบบการวิเคราะห์สภาพการเงินออนไลน์ ตลาดนัดชุมชนออนไลน์ นางจินตนา กล่าวในตอนท้าย