คัดลอก URL แล้ว

สภาวิศวกร แนะ 3 ทริคติดตั้งแท่นชาร์จรถ EV ให้ไร้ความเสี่ยง และตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

ปฎิเสธไม่ได้ว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” ได้กลายเป็นเทรนด์ยานยนต์ในไทยที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากตัวรถประเภทนี้มาพร้อมระบบการขับเคลื่อนที่ไม่ต้องเผาเชื้อเพลิง ทำให้การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้ามีเสียงที่เงียบมากกว่ารถสันดาป และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง และอุปกรณ์อะไหล่ที่น้อยมาก ที่สำคัญคือผู้ใช้งานสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งจากบ้านของตนเอง หรือสถานีชาร์จก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกรถยนต์ไฟฟ้าให้ถูกใจตามการใช้งาน

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ อุปนายกสภาวิศวกรคนที่ 1

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยการออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือการตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ไทยผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ในอนาคต

รถยนต์ไฟฟ้า เลือกแบบไหนให้ตรงใจ?

แบบแรก ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด HEV, Hybrid electric vehicle เป็นยานยนต์ที่มีทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงตามปกติ และเครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกว่าการทำงานแบบ “ลูกผสม” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้าจะชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และไม่สามารถชาร์จไฟจากแท่นชาร์จไฟได้

แบบที่สอง ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle เป็นรถไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จได้ โดยสามารถเติมพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งภายนอกโดยการเสียบปลั๊กจากไฟบ้านโดยตรง หรือสถานีชาร์จไฟก็ได้ ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้รถไฟฟ้าที่ดีกว่าเดิม และพลังงานที่ใช้ก็เป็นพลังงานที่สะอาดมากกว่าเดิม

และแบบสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV, ZEV, Battery Emissions Vehicle เป็นยานยนต์ที่ไร้มลพิษ ไม่ปล่อยไอเสียระหว่างขับขี่ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว

แท่นชาร์จรถแบบใดที่เหมาะกับรถของเรา?

การชาร์จไฟเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 แบบ โดยต้องเลือกตามความเหมาะสมของยานยนต์ที่เรามี เพื่อความปลอดภัย และได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ได้แก่

โหมดที่ 1 จะเป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐานซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ควบคุมการอัดประจุไฟฟ้าใด ๆ และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16 แอมป์

โหมดที่ 2 เป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐาน โดยมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันในสาย หรือ In-cable control and protection device: IC-CPD และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 32 แอมป์ โดยสามารถเสียบชาร์จรถยนต์ภายในบ้านใช้เวลาประมาณ 1 คืน

โหมดที่ 3 เป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ที่ใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยการชาร์จในโหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง

และโหมดที่ 4 การเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสตรง ที่ใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยโหมดนี้ใช้เวลาชาร์จน้อยที่สุด และมักพบเจอได้ตามสถานีชาร์จ เนื่องจากตัวแท่นชาร์จประเภทนี้มีขนาดที่ใหญ่

จะติดตั้งแท่นชาร์จทั้งทีต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

สิ่งที่ต้องตระหนักมาก ๆ เป็นอย่างแรก คือ รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรเสียบกับเต้ารับปกติภายในบ้าน ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเพลิงไหม้โดยไม่รู้ตัว เพราะระบบไฟฟ้าในบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ควรทำคือหาแท่นชาร์จแยกที่เหมาะสมกับประเภทของรถยนต์ รวมถึงมีการจดแจ้งมิเตอร์ควรแยกจากระบบไฟฟ้าที่จ่ายให้กับตัวบ้านต่างหาก เนื่องจากกระแสไฟที่ใช้และราคาค่ากระแสไฟฟ้า อาจมีความแตกต่างกับไฟบ้าน และอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีพิกัดกระแสไฟฟ้าสูง

ถัดมา คือ อย่าลืมติดตั้งเครื่องป้องกันไฟดูด ที่ป้องกันได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ (RCD Type B) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ดังนั้น การติดตั้งแท่นชาร์จ และเดินวงจรสายไฟฟ้าต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้สามารถติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง

และสุดท้ายผู้ใช้งานต้องหมั่นตรวจเช็ค บำรุงรักษาสภาพอุปกรณ์ให้สมบูรณ์และพร้อมใช้งานตลอดเวลา อีกทั้งควรให้ช่างผู้ที่มีความชำนาญการเข้าทำการตรวจสอบสภาพ และบำรุงรักษาตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในทุก ๆ ปี

เครดิตข้อมูลจาก สภาวิศวกร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง