สุขภาวะของประชาชนในเขตเมืองนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคเรื่องของการระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังมีผู้ป่วยโรคอื่นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาระบบและกลไกของศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อสร้างรูปแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและฟื้นฟูทางสุขภาพในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรุงเทพมหานคร” เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาวะชุมชนหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เป็นการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข ในฐานะหน่วยสาธารณสุขปฐมภูมิกับเครือข่ายชุมชนและภาคประชาชนในระดับพื้นที่ สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของการดำเนินการที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถสร้างระบบป้องกันและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เกิดรูปแบบและข้อเสนอกลไกสนับสนุนเพื่อการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของระบบบริการสุขภาพกับภาคประชาสังคม ในการจัดการสุขภาพตนเองของชุมชนในกรุงเทพมหานคร
ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักของกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระบบปฐมภูมิ โดยครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง เสริมสร้างความรู้ ความตระหนักของประชาชนเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมด้านสุขภาพทั้งทางกาย ใจ อารมณ์ และทางสังคมที่เหมาะสม โดยเสริมพลังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ด้านการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการภัยพิบัติ ด้านการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อกับเครือข่ายบริการสุขภาพ และ ด้านการฟื้นฟูสุขภาพ มีบริการเยี่ยมผู้ป่วยโดยทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดบริการสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญและสามารถดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว มีบทบาทในการดำเนินงานได้แก่ การตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุก การเผยแพร่และให้คำแนะนำการป้องกันโรคในครอบครัว ชุมชน ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง การเฝ้าระวังผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง การเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 (ทั้งก่อนฉีด วันที่เข้ารับการฉีดและการสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน)
สหคลินิกจุฬารัตน์ 7 เป็นหนึ่งในคลินิกปฐมภูมิ ที่เข้าร่วมโครงการ โดยนางสาวนารินา กองเขียว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สหคลินิกจุฬารัตน์ 7 กล่าวว่า หลังจากได้รับการติดต่อจาก สสส. ให้ร่วมดำเนินโครงการช่วงเดือนมิถุนายนปี 2565 พบว่ายังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากรในเขตเมืองอย่างมาก มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้ว่าไทยจะได้รับการจัดอันดับค่อนข้างสูงในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคก็ตาม แต่สหคลินิกจุฬารัตน์ 7 ก็ได้เล็งเห็นในการสร้างสุขภาวะที่ดีในกลุ่มประชาชนชุมชนอ่อนนุช 86 จึงได้เริ่มจัดตั้ง “โครงการชุมชนอ่อนนุช” ขึ้น ซึ่งก็ได้ติดต่อไปยังประธานชุมชน เพื่อเข้าไปพูดคุยทุกวันเสาร์ เดือนละ 4 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันว่า ประชากรในชุมชนต้องการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแลเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นได้ลงพื้นที่และพบว่าสภาพพื้นที่ของชุมชนอ่อนนุช 86 อยู่ใกล้กับบ่อขยะ จึงได้คัดกรองโรคตามกลุ่มช่วงอายุทั้งกลุ่มเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ พบว่าประชากรในชุมชนอ่อนนุช 86 มีประมาณ 120 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัยที่เข้ารับการคัดกรอง ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงภายในชุมชนนี้คือ ส่วนใหญ่พบภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดความรู้ในการควบคุมอาหารและโภชนาการ
ขณะเดียวกัน ได้คัดกรองโรคอื่นด้วย เช่น การคัดกรองภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือ CBC การคัดกรองโรคซึมเศร้า การคัดกรองเมตาบอลิก การคัดกรองการช่วยเหลือตัวเองของผู้สูงอายุ และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยผลจากการคัดกรองทั้งหมดพบว่า จากการคัดกรองโรคความดัน 24 คน พบผลผิดปกติ 7 คน การคัดกรองโรคเบาหวาน 22 คน พบผลผิดปกติ 4 คน และการคัดกรองเมตาบอลิก 30 คน พบผลผิดปกติ 3 คน
นางสาวนารินา กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หลังการดำเนินโครงการคือ ประชากรในชุมชนได้รับทราบว่า สหคลินิกจุฬารัตน์ 7 จะเป็นผู้เข้ามาดูแลด้านสุขภาพตรวจคัดกรองโรค จากเดิมที่ยังไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้ามาดูแลมากนัก และเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่หันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ทำให้เข้าถึงระบบบริการทางสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม
“การที่ได้รับงบประมาณจาก สสส. ทำให้การทำงานคัดกรองผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ภายในชุมชนสะดวกมากขึ้น มีเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น ทั้งเครื่องวัดความดัน เครื่องเจาะเลือดเพื่อตรวจน้ำตาล พร้อมกันนี้ ยังได้แนะนำความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรังหรือ NCDs ให้กับผู้นำชุมชนได้รับทราบก่อนด้วย ขณะเดียวกัน ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางสุขภาพภายในชุมชน เช่น ป้าย แผ่นพับ ด้วยการแจกสื่อผ่านผู้นำชุมชนไปยังทุกคน ส่งผลให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความรู้มากขึ้น” นางสาวนารินากล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่นางสาวชญาดา ร่อนแก้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สหคลินิกจุฬารัตน์ 7 กล่าวว่า หลังจากได้รับงบประมาณจาก สสส. ที่ให้ดำเนินโครงการนี้ ก็ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมอาหาร ที่ส่งผลต่อความดันโลหิต เบาหวาน และน้ำหนักตัว ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นพร้อมกับการป้องกันอันตรายจากมลพิษขยะ เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลังจากรับการคัดกรองก็จะได้รับการรักษา ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ลดภาวะแทรกซ้อนจากการป่วยโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่คัดกรองโรค พบว่าคนในชุมชนอ่อนนุช 86 ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ต้องทำงานทุกวัน ดังนั้นการเข้ารับการตรวจสุขภาพจะมีเพียงผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มคนหนุ่มสาวต้องออกไปทำงานหารายได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คนในชุมชนมีความหวาดกลัวต่อการระบาดของโรค เจ้าหน้าที่จึงต้องปรับวิธีการเมื่อเข้าไปตรวจคัดกรองมากขึ้น พร้อมแจกเจลแอลกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดช่วงเวลาที่มีการคัดกรองโรค
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากลงพื้นที่คัดกรองโรคคือ สุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและไขมันสูง ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ยังไม่ถูกต้อง แต่จากการดำเนินโครงการคัดกรองโรค ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพมากขึ้น เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่เป็นโรคความดัน เบาเหวาน สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองในการรับประทานอาหารมากขึ้น มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดี ความดันเริ่มลดลง ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ที่มีความเสี่ยง ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ได้รับการจัดสรรยา ทราบถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้มากขึ้น
“โครงการนี้ช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้มากขึ้น เพราะรู้ว่ามีสหคลินิกจุฬารัตน์ 7 อยู่ใกล้กับชุมชน จากเดิมที่ต้องซื้อยามาบริโภคเอง ก็เข้ามารับบริการที่คลินิกได้” นางสาวชญาดา กล่าว
ขณะเดียวกันผู้นำชุมชน ถือว่ามีส่วนอย่างมากที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ เพราะมีข้อมูลของลูกบ้าน บ้านไหนที่มีผู้ป่วยโรคอะไร ก็จะรับทราบได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในการฉีดวัคซีน โควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้นำชุมชนก็มีบทบาทในการส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าบ้านหลังไหนฉีดไปแล้วเท่าไหร่ ทำให้การทำงานนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น