คัดลอก URL แล้ว

วธ.ชวนเที่ยวแหล่งมรดกทางโลก ชมวัฒนธรรมไทพวน ชุมชนยลวิถี “บ้านเชียง” จ.อุดรธานี ปั้นหม้อ ล้อลายเขียนสีลายสืบทอดมา 5,000 ปี

แซ่บอีหลีกับเมนูข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวานบ้านเชียง ช้อปของดีบ้านเชียง พร้อมจัดโปรแกรมเที่ยวต้อนรับน้องท่องเที่ยว สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างฐานการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2565 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้แทนสภาวัฒนธรรมจังหวัด นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง ผู้นำชุมชนฯ ชาวชุมชนบ้านเชียง นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ในโอกาสนี้ ปลัดวธ. ได้เปิดตัวชุมชนด้วยเอกลักษณ์ของชาวบ้านเชียง เปิดป้ายชุมชนด้วยการเขียนลวดลายก้นหอยลงบนไหบ้านเชียง พร้อมการบรรเลงเพลงโปงลางจากวงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง โรงเรียนบ้านเชียงวิทยา จากนั้นเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวน ตลาดวัฒนธรรม ชิมข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวานบ้านเชียง ชมสาธิตภูมิปัญญาไทพวนบ้านเชียง อาทิ ทำขนมข้าวปาดเขียวมรกต ข้าวโล่ง ข้าวจี่ ขนมครก ขนมดอกบัว จักสาน ทำผ้าบาติก ของฝากที่ระลึก เยือนร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียง “เฮ็ดมือ ปั้นหม้อ ล้อลาย” ปั้นหม้อเขียนสีลายสืบทอดมา 5,000 ปี ชมการร้อยสร้อยลูกปัดดินเผาตามรอยดินดำ อารยธรรมบ้านเชียง เรียนรู้การทอผ้าฝ้ายย้อมครามบ้านเชียง “มนต์เสน่ห์ภูษา ผ้าฝ้ายย้อมครามไทพวนบ้านเชียง” ชมหลุมขุดค้น วัดโพธิ์ศรีใน กราบสักการะสรีระสังขาร อดีตเจ้าอาวาส กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ อุโบสถดอกบัวกลางน้ำแห่งเดียวในประเทศไทย ณ วัดสันติวนาราม

ปลัด วธ. กล่าวว่า การเปิดตัวสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเชียง เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สอดคล้องกับ วธ. มุ่งขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และบริการทางวัฒนธรรม ตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นับเป็นการแสดงถึงความเข้มแข็งระหว่างคนในชุมชนกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ สไตล์ New Normal เป็นอย่างดี ถือเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติอีกแห่งหนึ่ง

ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ชุมชนบ้านเชียง เป็นเครือข่ายวัฒนธรรมไทพวน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าฝ้ายย้อมคราม มีวิถีชีวิตและแหล่งท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จัดการแสดงวัตถุโบราณ ทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบที่บ้านเชียงและพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมทั้งนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทำนา ทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักปลอดสารพิษ เรียนรู้ทอผ้าย้อมคราม ออกแบบลายผ้า การมัดหมี่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ บึงนาคำ วัดสันติวนาราม (วัดดงไร่) ป่าไม้ธรรมชาติ 1,000 ไร่ หนองน้ำ 100 ไร่ เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา และเขียนสีลวดลายบ้านเชียง ณ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปั้นหม้อเขียนไห เรียนรู้การจักสาน ทอผ้า และมัดย้อม ร่วมกิจกรรมของฝากที่ระลึก DIY แม็คเน็ต พวงกุญแจ ถ้วยกาแฟ ถ้วยชามบ้านเชียง ชมศาสนสถาน ที่สวยงาม เช่น อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ พระใหญ่วัดเทพประทานพร โบสถวิหารวัดสระแก้ว ยกระดับอาหารพื้นบ้านไทพวน “ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวานบ้านเชียง” ต้อนรับนักท่องเที่ยว ชมศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์ที่เดียว “ระบำบ้านเชียง” ถ่ายรูป Street Art ตามโปรแกรมนำเที่ยวภายในชุมชน พักโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นและมัคคุเทศก์น้อยนำชมสถานที่ท่องเที่ยวและชุมชนอย่างเป็นกันเอง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง