คัดลอก URL แล้ว

ม.หอการค้าไทย นำร่องหลักสูตร Sandbox จับมือ Harbour.Space University  สร้างผู้ประกอบการที่มีทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมรองรับความต้องการของภาคธุรกิจ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มุ่งเป้าผลิตผู้ประกอบการคุณภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ผุด หลักสูตรการผลิตบุคลากร High–Tech Entrepreneur นำโดย International School of Management (ISM) ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชน  ได้รับการอนุมัติให้เป็น 1 ใน 4 หลักสูตรนำร่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ตั้งแต่ ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป มีเป้าหมายผลิตผู้ประกอบการแนวหน้าที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี

หลักสูตรการผลิตบุคลากร High–Tech Entrepreneur โดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Harbour.Space University เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งหวังพัฒนาเยาวชนไทยในสาขาที่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ และกำลังเป็นที่ต้องการแต่กลับขาดแคลนในภาคธุรกิจ เช่น เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ เจ้าของสินค้าที่มีนวัตกรรม หรือทำงานกับองค์กรในสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น

การมีความยืดหยุ่นมากกว่าหลักสูตรปกติแต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการศึกษา เป็นจุดเด่นของหลักสูตรนำร่องการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการสร้างบัณฑิตที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรม เช่น การมีผู้สอนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม สำหรับหลักสูตรการผลิตบุคลากร High–Tech Entrepreneur มีมืออาชีพระดับโลก อาทิ Mr. Kamran Elahian จาก Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ผู้มีประสบการณ์สร้างบริษัท Startup ในระดับ Unicorns 4 บริษัท เป็นหัวหน้าหลักสูตร และเป็นผู้สอนในวิชา From Zero to Hero และ Ms. Ann Hiatt ผู้ที่วงการ startup และ Tech ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาในฐานะ Executive Business Partner ของ Jeff Bezos (CEO ของ Amazon) และ Chief-of-Staff ของ Eric Schmidt (CEO และประธานบริหารของ Google/Alphabet)

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ปณิธานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือ การสร้างบัณฑิตที่เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ดังนั้นนักศึกษาต้องมีความรู้และทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันข้ามสาขา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ”

รองศาสตราจารย์ ดร.เสาณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร Harbour.Space@UTCC กล่าวว่า“หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-Tech Entrepreneur ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชนเพื่อช่วยบ่มเพาะและส่งเสริมไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพของนักศึกษาให้กลายเป็นธุรกิจจริงได้ รวมถึงการส่งบุคลากรมาเรียนในลักษณะคอร์สระยะสั้น เพื่อ Re-skill หรือ Up-skill ทักษะยุคใหม่ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว”

ผู้ประกอบการธุรกิจชั้นนำหลายแห่งของไทย เช่น บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด,  บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ดั๊บเบิล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีเคไอ 1919 จำกัด, บริษัท ไทยเพรสซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด, บริษัท บางกอก รินเวสท์ จำกัด, บริษัท ไมค์ กรุ๊ป พัทยา และ บริษัท เจเนอรัล อิเลคทรอนิค คอมเมอร์ซเซอร์วิสเซส จำกัด เป็นต้น ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความแตกต่างและยกระดับการเรียนรู้ขั้นอุดมศึกษาผ่านการสนับสนุนโครงการนี้

โดยหลักสูตร Harbour.Space@UTCC เป็นหลักสูตรนานาชาติ เปิดรับนักศึกษาจากทั่วโลก เพื่อศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี และระดับปริญญาโท ซึ่งมีระยะเวลาการศึกษา 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่ศึกษา นอกจากหลักสูตรการผลิตบุคลากร High-Tech Entrepreneur ซึ่งเป็นหลักสูตรนำร่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ยังมีสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เน้นด้านเทคโนโลยี และการออกแบบ ได้แก่ Cyber Security, Computer Science, Data Science, Front-end Development, Interaction Design, Digital Marketing และ Fintech โดยมีสถานที่จัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อาคาร 10 ชั้น 6 ทั้งนี้ นักศึกษามีโอกาสได้รับทุนการศึกษา และโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้น ณ Harbour.Space University เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับนานาชาติ

ผู้สนใจหลักสูตรการผลิตบุคลากร High–Tech Entrepreneur ภายใต้โครงการHarbour.Space@UTCC     สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://scholarships.harbour.space/bangkok


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง