คัดลอก URL แล้ว

Toyota เปิดศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6 สระบุรี

คุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คุณศิริวรรณ บุญวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โตโยต้าสระบุรี จำกัด และคุณอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ร่วมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6” ณ บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด จังหวัดสระบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

“ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เป็นกิจกรรมในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่ได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง มาถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจชุมชนต่าง ๆ และมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ เช่น ประสิทธิผลในการผลิต คุณภาพสินค้า และต้นทุนสินค้าคงคลัง เป็นต้น

บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด จังหวัดสระบุรี เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดมากกว่า 20 สายพันธุ์รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์เพาะเห็ดให้แก่บรรดาเกษตรกรต่างๆ บริหารงานโดยคุณอภิศักดิ์ แซ่หลี ธุรกิจฯได้เข้าร่วมกิจกรรมการ ไคเซ็นภายใต้โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าสระบุรี จำกัด โดยโตโยต้าได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้าและหลักการไคเซ็น (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้าเข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้ามาปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง ดังนี้

1.) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity)

โดยการออกแบบการจัดวางไลน์การผลิตใหม่ในขั้นตอนของการกรอกข้าวฟ่าง โดยเปลี่ยนจากการทำงานเป็นจุดๆ มาเป็นการทำงานแบบต่อเนื่อง พนักงานไม่ต้องเดิน และไม่ต้องยกของ ลดเวลาที่สูญเสียไปจากการเคลื่อนที่ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการใช้อุปกรณ์ทดแทนการทำงานของคน เช่นนำระบบกลไกคาราคุริ (Simple automation) มาออกแบบรางเลื่อนเพื่อขนย้ายสินค้าได้ง่ายขึ้น ลดเวลาในการขนย้าย นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนถาดเหล็กบรรจุขวดแก้วที่มีน้ำหนักมากมาเป็นถาดตะกร้าพลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าและใช้พื้นที่ในการเก็บน้อยกว่าเดิม รวมทั้งราคาถูกกว่า ทำให้ทำงานสะดวกขึ้น อีกทั้งมีการปรับขนาดถาดสไลด์ Dolly ให้เหมาะสมกับการทำงาน ทำให้น้ำหนักลดลงและใช้คนจำนวนน้อยลงในการเคลื่อนย้าย ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยลดเวลาโดยรวมที่ใช้ในกระบวนการทำงาน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจาก 44% เป็น 79 % ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,000 ขวดต่อวัน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 364,000 บาทต่อเดือน

2.) การควบคุมคุณภาพของสินค้า (Quality)

ลดของเสียลงโดยการเจาะรูที่ฝาครอบขวดและเพิ่มขนาดรูที่กล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อให้อากาศถ่ายเทหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดปริมาณของเสียลงได้ 67 % คิดเป็นมูลค่า 9,450 บาทต่อเดือน

3.) การส่งมอบสินค้า (Delivery)

มีการจัดทำบอร์ดควบคุมการส่งมอบสามารถตรวจสอบจำนวนการส่งมอบของลูกค้าแต่ละรายและวางแผนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลา 100%

4.) การจัดการสินค้าคงคลัง (Stock management)

มีการปรับระดับสต็อกวัตถุดิบลงให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการผลิตในแต่ละเดือน และวางแผนผลิตหัวเชื้อเห็ดตามยอดการผลิตต่อเดือนประมาณ 5,000-7,000 ขวด/วัน ซึ่งหมายถึงใช้ข้าวฟ่างผลิต 16 ตัน/เดือน โดยลดต้นทุนที่เคยใช้ในการสั่งซื้อต่อครั้งจาก 1.3 ล้านบาท เหลือเพียง 144,000 บาท ทำให้มีทุนหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 1ล้านบาท ลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นในสต็อก และลดพื้นที่จัดเก็บลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์

5.) นวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดเพิ่มมาจากการไคเซน

การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแทนขวดแก้ว ตลอด 30 ปีของการเพาะเห็ด ลัลณ์ลลิลใช้ขวดโซดามาบรรจุเชื้อเห็ดเพราะหาง่ายและแข็งแรง แต่ปัจจุบันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป การค้าขายออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น การขนส่งกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจเพราะค่าขนส่งคิดตามน้ำหนักของสินค้า บริษัทจึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา โดยเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้ตัดเชื้อมาลงขวดได้ง่ายขึ้น น้ำหนักเบาเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ลูกค้าก็ใช้ง่าย และตัวพลาสติกก็สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกด้วย

การผลิตเชื้อเห็ดเหลว เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใช้กับขวดพลาสติก การผลิตหัวเชื้อต้องเลี้ยงเชื้อบนอาหารวุ้น PDA แล้วตัดชิ้นออกมาเพื่อบรรจุลงไปในขวด ซึ่งการตัดและใส่ขวดชิ้นหนึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ลัลณ์ลลิลจึงพัฒนาตัววุ้นให้กลายเป็นเชื้อน้ำ แล้วก็ใช้เข็มฉีดยาดูดขึ้นมาเพื่อบรรจุลงขวด ลดเวลาในการผลิตและเพิ่มความสะดวกของลูกค้าในการใช้งานมากขึ้น

โตโยต้าได้ส่งมอบโครงการแก่ บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ภายหลังการปรับปรุงเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 และได้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าบริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ยังคงรักษาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุงต่อยอดธุรกิจได้ด้วยตนเองตามหลักวิถีโตโยต้าอย่างต่อเนื่อง ขยายผลการสร้างมาตรฐานการดำเนินงานจนสามารถลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงบริหารงานได้ด้วยตนเองอย่างมืออาชีพ สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา 100% ดังนั้น โตโยต้า และบริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6” ต่อจากศูนย์การเรียนรู้ 5 แห่งแรก ที่กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงราย สงขลา และชลบุรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคกลางต่อไป

ทั้งนี้ โตโยต้าได้เปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ครอบคลุมพื้นที่ครบทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานภายใต้พันธกิจใหม่ของบริษัทฯในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี เพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยโตโยต้ามุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้ฯทั้ง 6 แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนในประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดแนวความรู้ในการปรับปรุงธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ สามารถนำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง