คัดลอก URL แล้ว

สสว. บูรณาการภาครัฐ-เอกชน เดินหน้าแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 67

สสว. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เดินหน้าจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 2567 เพื่อวางกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ของประเทศ โดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตครอบคลุม SME ทุกกลุ่ม และมุ่งเป้าในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องสำอาง Soft Power อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ พร้อมพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ และเตรียมเปิดรับข้อเสนอโครงการจากทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชน ฯลฯ จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 เพื่อวางกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ประจำปี ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญจะเป็นกรอบในการจัดทำข้อเสนอโครงการ และงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 ที่เหมาะสมและเพียงพอ

“นอกเหนือจากการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ของประเทศแล้ว อีกบทบาทสำคัญของ สสว. คือการทำหน้าที่เป็น System Integrator หรือเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SME โดยใช้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี (Action Plan) เป็นเครื่องมือในการบูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 2567 มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของแผนแม่บทการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 สสว. จึงได้กำหนดประเด็นสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ปี 2567 โดยจะมุ่งเน้นสร้างการเติบโตที่ครอบคลุม SME ทุกกลุ่ม สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้าในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะก้าวมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ภายใต้ 15 กลยุทธ์หลัก และ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้าง High Impact ให้กับประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME มีบทบาททางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยั่งยืน” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับทิศทางการส่งเสริม SME ปี 2567 ประกอบด้วย 15 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.พัฒนาธุรกิจระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง 2.ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน 3.ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก 4.ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว 5.ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอดได้ 6.สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ 7.ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ 8.สร้าง

ส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น 9.ส่งเสริมการเข้าสู่สากล 10.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 11.สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 12.สร้างความพร้อมของแรงงานและบุคลากร 13.สนับสนุนศูนย์กลางในการให้ข้อมูล องค์ความรู้และบริการ 14.ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ 15.พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ภายใต้แผนปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุนให้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งช่วยขับเคลื่อน Soft Power กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง

การประชุมครั้งนี้มีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน เข้าร่วมงานกว่า 73 หน่วยงาน เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนาและริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพรวมทั้งขยายโอกาสในด้านต่างๆ ให้ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ สสว. จะเปิดรับข้อเสนอโครงการของหน่วยงานต่างๆ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากลั่นกรองและวิเคราะห์โครงการ เพื่อบรรจุภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME สำหรับจัดทำคำของบประมาณประจำปี 2567 ต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง