คัดลอก URL แล้ว
ททท. จับมือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดตัวโมเดลพัฒนาชุมชน Local X Collaboration จับคู่พาร์ทเนอร์สร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจกับชุมชน

ททท. จับมือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดตัวโมเดลพัฒนาชุมชน Local X Collaboration จับคู่พาร์ทเนอร์สร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจกับชุมชน

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. มีแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลการสร้างหุ้นส่วนความสำเร็จจนเกิดเป็นโครงการโลคอล เอกซ์ (Local X) ซึ่งเป็นความพยายามสรรหาหุ้นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขามาร่วมงานกับชุมชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เป็นการ Collaborate ตั้งแต่ต้นทาง ร่วมคิด ร่วมพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงดำเนินธุรกิจ จริง ๆ ในด้านการตลาด การขาย จับมือกันกับชุมชน ในฐานะพาร์ทเนอร์ทำงานร่วมกัน และแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย โครงการฯ นี้จึงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียมในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งเป็น “หัวใจของความยั่งยืน” รองผู้ว่า ททท. กล่าวย้ำ

สำหรับชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ คือ ชุมชนบ้านน้ำม้า อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และชุมชนบ้านไร่กร่าง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ทำงานร่วมกันนานนับเดือน จนสามารถพัฒนาเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ School & Family Outing ซึ่งได้พาร์ทเนอร์จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาร่วมออกแบบกิจกรรมยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา ก่อให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน นำไปสู่การค้นพบว่าธรรมชาติเป็นทั้งครูใหญ่ และขุมทรัพย์ที่ซ่อนความรู้ไว้มากมาย

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันอาหาร (National Food Institute) มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน โดยนางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ในส่วนของชุมชนบ้านน้ำม้า จังหวัดเชียงราย มีวัตถุดิบคุณภาพดีคือ ข้าวเหนียว กข.6 ทางสถาบันจึงได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพพร้อมดื่ม “ไรซ์นีก้า” น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวเหนียวผสมน้ำลิ้นจี่ และใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ดื่มง่าย มีประโยชน์ คือ ช่วยการทำงานของระบบลำไส้และการย่อยอาหาร ควบคุมความดันโลหิตและการฟื้นตัวจากอาการอ่อนเพลีย ในส่วนของชุมชนบ้านไร่กร่าง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ “ชูการ์ตาล” น้ำตาลโตนดผง 100% น้ำตาลโตนดถือเป็นน้ำตาลที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นน้ำตาลที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI Sugar) ทำให้ซึมเข้าสู่เลือดช้า ซึ่งน้ำตาลที่มีสารให้ความหวานที่มีค่า GI สูงกว่าจะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคที่เกิดจากน้ำตาลมากกว่า นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ช่วยออกแบบตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบให้ และได้พาร์ทเนอร์จากกิจการเพื่อสังคม ฟายด์โฟล์ค และ ไฟด์ฟู๊ด มาช่วยต่อยอดการตลาดทั้งท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อีกหนึ่งพาทเนอร์สำคัญที่มาร่วมขับเคลื่อนด้วยโดย นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสาน รักษาทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญของโครงการฯ ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วนที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งการพัฒนาทั้งสองชุมชนไปสู่แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ “โมเดลนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมชุมชนไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมยุคใหม่ที่ต้องทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ ได้” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว

เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมในชุมชนบ้านน้ำม้า จ.เชียงราย

นางชนิดาภา ดวงปัน (คุณวาว) ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านนํ้าม้า เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านนํ้าม้า มีลำห้วยนํ้าม้าจากแหล่งภูเขาไหลผ่านชุมชน มีธรรมชาติที่สวยมาก คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยากเชิญชวนโรงเรียนในเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง พาเด็กมาเที่ยวชุมชนบ้านนํ้าม้าได้รู้จักวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น

5 กิจกรรมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็ก

  1. แพนด้าตะลุยทุ่ง – ตามหาความมหัศจรรย์ของต้นไผ่ และทำชาไผ่
  2. อาหารมื้อนี้ฝีมือฉันเอง – หิ้วตะกร้าพากันเดินเข้าสวนเก็บผักมาทำอาหาร
  3. อาหารกลางวันจานเด็ด – เติมพลังกันด้วยอาหารจากฝีมือตัวเอง และเมนูเด็ดจากชุมชน
  4. มหัศจรรย์แห่งข้าว (ฮิมดอย) – สนุกกับการทำกระดาษจากเยื่อฟางข้าว
  5. ไขปริศนาวิถีชาวเกษตร – ลุยสวนเกษตร ห้องเรียนภาคปฏิบัติกลางแจ้ง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

สัมผัสธรรมชาติและทำกิจกรรมจากตาลโตนดที่ชุมชนบ้านไร่กร่าง จ.เพชรบุรี

นายประสงค์ หอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไร่กร่าง เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านไร่กร่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นตาลและต้นไม้ใหญ่ คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้จากการทำน้ำตาลโตนด อยากเชิญชวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ และจัดหวัดใกล้เคียง พาเด็กมาเที่ยวชุมชนบ้านไร่กร่าง เด็ก ๆ จะได้สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้วิถีคนตาลโตนด ทำขนมจากตาลโตนด และสนุกกับการทำของเล่นจากธรรมชาติด้วยตัวเอง

4 กิจกรรมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็ก

  1. ทุ่งนาป่าตาล – สนามทดลองความหวานกลางธรรมชาติ ทำความรู้จักต้นตาลโตนด/วิธีเคี่ยวน้ำตาลโตนด สนุกกับการหยอดน้ำตาล /ทำขนมโตนดสุก
  2. อาหารกลางวันจานเด็ด – ลิ้มรสอาหารวิถีคนเพชร
  3. บัวลอยโตนดสุกพาเพลิน – สนุกกับของหวานจากตาลโตนดคู่บ้าน
  4. อีโป้งโยงใจ – สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หนึ่งเดียวในโลกจากลูกตาลโตนด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง