นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) เพื่อพิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน โดยมีนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วยนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายงานการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ร่างวิสัยทัศน์ระบบคุ้มครองเด็กในประเทศไทย และร่างแนวทางการดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา รวมทั้งร่างแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเด็กในสถานรองรับเด็กและสถานที่ที่มีเด็กในการดูแล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างรายงานการประเมินความก้าวหน้าฯ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานสร้างกลไกการคุ้มครองเด็กในระดับตำบล 2,504 แห่งทั่วประเทศ และการพัฒนาระบบสารสนเทศและการแจ้งเหตุ
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างวิสัยทัศน์ระบบคุ้มครองเด็กในประเทศไทย กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การ Child Frontier จัดทำขึ้น เพื่อกำหนดกรอบคิดและทิศทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ฉบับต่อไป ให้สามารถตอบสนองการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุก โดยค้นหาการประสานส่งต่อ และจัดบริการของหน่วยงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กประสบปัญหาทางสังคม ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐานของทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นกรอบในการจัดทำแผนและการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กของทุกหน่วยงาน
อกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ทุกสถานที่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โดยส่งเสริมให้ทุกสถานที่ที่มีเด็กในการดูแล จัดทำนโยบายคุ้มครองเด็กและใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคน อีกทั้งให้มีกลไกติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้มีความร่วมมือในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำผิด แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษ ที่มีการปรับเกณฑ์อายุจากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการเยียวยาผู้เสียหายและการให้โอกาสเด็กผู้กระทำผิดได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู โดยจะมีการจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวง พม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวันนี้ ตนรู้สึกดีใจมากที่ทุกหน่วยงานได้ตกลงร่วมกันว่าจะมีพื้นที่ให้เด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล โดยทุกหน่วยงานจะเข้าไปดูแลให้ครอบคลุมในการคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราพยายามเน้นว่า เราจะไม่ทำเรื่องนี้เพราะข้อกฎหมาย แต่เราต้องการทำเพื่อผลสัมฤทธิ์ในการสร้างเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพและเติบโตขึ้นในสังคม โดยที่ไม่เป็นปัญหากับตนเองและสังคม
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบการขับเคลื่อนมติสำคัญต่างๆ ซึ่งต่อไป กระทรวง พม. จะมีการทบทวนและพัฒนาระบบ รูปแบบ โครงสร้างการดำเนินงาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมาตรฐานเชิงวิชาชีพ ทั้งในบทบาทของผู้ปฏิบัติงานและการให้คำแนะนำปรึกษากับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญในการจัดสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัว และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานคุ้มครองเด็ก โดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก