คัดลอก URL แล้ว
จับตาสงกรานต์ 64 “ขับเร็ว” ทำตายพุ่ง! ชน 120 เท่ากับตกตึก 19 ชั้น

จับตาสงกรานต์ 64 “ขับเร็ว” ทำตายพุ่ง! ชน 120 เท่ากับตกตึก 19 ชั้น

“ยิ่งเร็ว ยิ่งเสี่ยง” ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ที่เครือข่ายทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และการชนบนถนนในไทย พยายามสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก เพราะแต่ละปีคนไทยต้องสังเวยชีวิต บนท้องถนนเยอะมาก ตัวเลขยังคงสูงเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย ขณะที่ยอดบาดเจ็บพุ่งทะลุไปกว่า 1 ล้านรายเลยทีเดียว!

ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง “กำหนดเส้นทางให้ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน” โดยใช้ความเร็วขับรถเลนขวาขั้นต่ำ 100 กม./ชม. เริ่ม 1 เม.ย. 2564 ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน- พยุหะคีรี (ถนนสายเอเชีย ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร จากที่ได้มีการประกาศกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราความเร็วใหม่ที่ขับได้สูงสุด 120 กม./ชม. เลนขวาห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม. ไปแล้วก่อนหน้านี้นั้น

หวั่นสงกรานต์ 64 หยุดยาว 9 วันทำตายพุ่ง!

‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงแสนสาหัส ที่ทำให้เครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุกังวลใจ แม้ในรายละเอียดจะกำหนดหลักเกณฑ์และเส้นทางเฉพาะ แต่เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนพากันเหยียบ 120 ไปก่อนแล้ว

โดยเฉพาะเริ่มมีผลบังคับใช้ ก่อนช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันนานหลายวัน จาก 7 วันอันตราย เพิ่มขึ้นเป็น 9 วันอันตราย ในปีนี้ไม่รู้ว่าจะตายกันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เนื่องจากการขับรถทางไกลและขับท่องเที่ยว ผู้ขับขี่จะรู้สึกเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ และหากพักผ่อนไม่เพียงพอยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น เราทุกคนต้องขับไม่ประมาทและมีสติอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญขอให้ลดใช้ความเร็วลงสักนิดจะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น

ย้ำ “ขับเร็ว” ต้นตอความสูญเสีย!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูล “ความเร็ว: พญามัจจุราชที่เหี้ยมโหดที่สุดบนท้องถนน” ระบุว่า “การขับรถเร็ว” คือสาเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากยิ่งขับเร็วความรุนแรงยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

ยิ่งขับเร็วยิ่งต้องใช้ระยะทางที่มากขึ้น ในการเบรกจนรถจอดสนิท

“ถนนในเมืองไทยแทบทุกสาย ไม่ได้ออกแบบให้สามารถขับรถที่ความเร็วสูง เนื่องจากแทบทั้งหมดจะต้องมีจุดกลับรถ มีถนนย่อยเข้ามาเชื่อมถนนใหญ่ มีสี่แยกถนนหลวงตัดผ่านชุมชน มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทาง มีเด็กนักเรียนเดินข้ามถนนไปโรงเรียน มีคนแก่ข้ามถนนไปวัด มีผู้ใหญ่ข้ามถนนไปตลาด ไปทำงาน มีร้านค้าขายของริมทาง มีรถจอดซื้อของข้างทาง บางครั้งถึงขั้นจอดซ้อนคัน ที่สำคัญมีรถความเร็วแตกต่างกันวิ่งอยู่บนถนนเดียวกัน” นพ.วิทยา กล่าว

ห่วงขับเร็วเพิ่ม 20 กม./ชม. ยอดตายอาจพุ่ง 100%

ด้าน ‘ณัฐพงศ์ บุญตอบ’ นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า ผลวิจัยของประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าการลดความเร็วเพียง 10% สามารถลดอัตรการตายเกือบครึ่งหนึ่ง แต่กลับกันหากเพิ่มความเร็วเท่ากันที่ 10% อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นถึง 50% เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเพิ่มความเร็วจาก 100 เป็น 120 กม./ชม. อาจทำให้อัตราการเสียชีวิตบนถนนไทย เพิ่มขึ้นถึง 100% แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการชนด้วย

นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิไทยโรดส์ มองว่า หลังราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะ บนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท พ.ศ. 2564 ไปแล้วนั้น น้อยคนนักที่จะเข้าไปอ่านรายละเอียด ว่าอัตราความเร็วในเลนขวาที่วิ่งได้สูงสุด 120 กม./ชม. และห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม. แท้จริงแล้วกำหนดใช้กับรถยนต์ประเภทใดบาง กำหนดวิ่งได้บนถนนเส้นไหนและในระยะทางกี่กิโลเมตร

ทั้งนี้ เงื่อนไขของประกาศนี้ 4 ข้อ กำหนดว่าถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ได้นั้น ต้องประกอบด้วย

  1. ช่องจราจรมี 4 ช่องขึ้นไป (ไปสอง-กลับสอง)
  2. เกาะกลางถนนต้องมีชัดเจน รถไม่สามารถวิ่งข้ามผ่านตัดกระแสไปได้
  3. ต้องเป็นถนนทางตรงห้ามมีจุดกลับรถ
  4. เป็นเส้นทางที่ประกาศโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งปัจจุบันทั้งสองหน่วยงานกำลังรวบรวมเส้นทาง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง