แม้ก่อนหน้านี้ตำรวจและกรมการขนส่งทางบก จะออกมาให้ข้อมูลว่าใครที่ชอบสะสมใบสั่งจราจร ไม่ไปจ่ายค่าปรับ เมื่อถึงกำหนดต่อภาษีรถยนต์ประจำปี จะไม่สามารถดำเนินการได้นั้น แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ละปีคนไทยฝ่าฝืนกฎจราจรจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด และฝ่าไฟแดง ซึ่งสถิติการออกใบสั่งทั่วประเทศ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2562 มีการออกใบสั่งทั้งสิ้น 11,839,622 ใบ แต่มีผู้มาจ่ายค่าปรับเพียง 2,141,818 ใบ คิดเป็นประมาณ 18% เท่านั้น
ส่วนในปี 2563 สถิติถึงเดือน ต.ค. ออกใบสั่งไปทั้งสิ้น 4,652,073 ใบ มีผู้มาชำระค่าปรับ 1,355,897 ใบ คิดเป็น 29%
– ชี้คนไม่จ่ายค่าปรับ ส่วนใหญ่ทำผิดหลายครั้ง
‘พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ’ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่าจากสถิติการชำระใบสั่ง พบว่าคนที่ทำผิดครั้งเดียวซึ่งอาจจะไม่ได้ตั้งใจ มาจ่ายค่าปรับมากกว่าคนที่ทำผิดหลายครั้ง และได้ใบสั่งหลายใบ ซึ่งอาจเกิดจากไม่สนใจกฎหมาย หรือคิดว่าไม่จ่ายก็ไม่มีผลอะไร
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ร่วมกันแถลงว่าจะดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.จราจร ม.141/1 มาตรการ “งดออกเอกสารชำระภาษี” กรณีค้างชำระค่าปรับตามใบสั่ง ตามกระบวน ต่อไปนี้
เมื่อพบเห็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจร / พ.ร.บ.รถยนต์ / พ.ร.บ.ขนส่งทางบก / พ.ร.บ.ทางหลวง เป็นต้น จนท.จะออกใบสั่ง หากไม่มาชำระตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีหนังสือแจ้งเตือนให้มาเสียค่าปรับภายใน 30 วัน หากมาจ่ายคดีก็จบไป
แต่หากยังไม่มาชำระ จนท.จะส่งข้อมูลไปที่กรมการขนส่งทางบก เมื่อถึงเวลาต่อภาษีประจำปี นายทะเบียนจะแจ้งให้ชำระค่าปรับพร้อมกับจ่ายภาษี ก็จะได้ป้ายวงกลมมาติดหน้ารถตามปกติ
– กฎหมายให้ต่อภาษีได้ แต่ยังไม่ให้ “ป้ายวงกลม” จนกว่าจะเคลียร์ค่าปรับ
ส่วนใครที่เลือกจ่ายเฉพาะภาษีเพียงอย่างเดียว นายทะเบียนจะออกเอกสารชั่วคราวแทนป้ายวงกลม และไปดำเนินการจ่ายค่าปรับให้เสร็จสิ้น จากนั้นจึงนำหลักฐานมาขอรับป้ายวงกลม ภายในระยะเวลา 30 วัน
ถ้ายังเพิกเฉยจะถูกงดออกป้ายวงกลมในปีนั้นๆ ซึ่งการใช้รถที่ไม่มีป้ายวงกลมถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และถูกดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป..
ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่าง “รอลงนามร่วมกัน” ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นนับไปอีก 120 วัน จะมีผลบังคับใช้