คัดลอก URL แล้ว
วิจัยพบนักบิดไทย “ขาดทักษะประเมินความเสี่ยง” ต้นตอ ชน-ตาย บนถนนพุ่ง! ชี้ ‘ตัดหน้า’ สาเหตุอันดับ 1

วิจัยพบนักบิดไทย “ขาดทักษะประเมินความเสี่ยง” ต้นตอ ชน-ตาย บนถนนพุ่ง! ชี้ ‘ตัดหน้า’ สาเหตุอันดับ 1

โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ เผยผลวิจัยวิเคราะห์เจาะลึก เคสอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ 1,000 กรณีทั่วประเทศ ระหว่างปี 2559-2563 เพื่อค้นหาปัจจัยและสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ พบประเด็นที่นำไปสู่การชนและตายบนท้องถนน ดังนี้

จากเคสตัวอย่าง 1,000 เคส มากกว่าครึ่ง หรือ 53% ของอุบัติเหตุนั้น มีสาเหตุเกิดจาก “ตัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เอง” แบ่งเป็น 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

อันดับ 1 เกิดจากผู้ขับขี่ประเมินสถานการณ์เสี่ยงผิดพลาด (Perception Failure) – 49%

อันดับ 2 เกิดจากผู้ขับขี่ตัดสินใจผิดพลาด ขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) – 32%

อันดับ 3 เกิดจากผู้ขับขี่ควบคุมรถผิดพลาด โดยเฉพาะขาดทักษะการใช้เบรกที่ถูกต้อง (Reaction Failure) – 13%

ขณะที่รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 “ชนตัดหน้า” สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับประมาท/หวาดเสียว โดยเฉพาะการขับเร็ว ฝ่าไฟแดง และเร่งความเร็วแทนที่จะเบรก เป็นต้น

อันดับ 2 “ชนท้าย” สาเหตุสำคัญเกิดจากไม่จดจ่อ/ถูกรบกวน เช่น การไม่มองข้างหน้า หลับใน หรือเมา

ดันดับ 3 “ชนขณะเลี้ยวเข้าทางร่วม” หรือจังหวะเลี้ยวเข้าออกซอย สาเหตุสำคัญเกิดจากขาดความระมัดระวัง ส่วนใหญ่มักไม่มองก่อนเลี้ยว หรือขับตามคันข้างหน้าโดยไม่เหลียวมองซ้ายขวา

พบ 42% นักบิดตายจากอุบัติเหตุ “ไม่สวมหมวกกันน็อค”

‘รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ขับขี่ จยย. ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กม./ชม. เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตคือ “การบาดเจ็บที่ศีรษะ” ซึ่งจากเคสตัวอย่างทั้ง 1,000 เคส พบว่าผู้ตายถึง 42% ไม่ใส่หมวกกันน็อค ในขณะที่ถนนบ้านเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ จยย. ดังนั้น จึงต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และใส่หมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐาน จะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการตายบนท้องถนนในบ้านเรา 75% เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ในขณะที่มอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะ ที่คนไทยจำนวนมากใช้เดินทางสัญจร ตัวเลขล่าสุดมียอดจดทะเบียนทั่วประเทศมากถึง 21 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดมากกว่า 400 ซีซี หรือ “บิ๊กไบค์” ประมาณ 2 แสนคัน หรือคิดเป็น 1%

เสนอ 6 ข้อ ลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จากผลวิจัยข้างต้น “ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย” สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ดังนี้

  1. ขอให้ทบทวนหลักสูตรอบรมการทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมุ่งเน้นเพิ่มทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทักษะการควบคุมรถที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้เบรก
  2. แยกอบรมและแบบทดสอบทำใบขับขี่ ระหว่างรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกัน
  3. บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การดัดแปลงรถจักรยานยนต์ การไม่สวมหมวกนิรภัย
  4. ผลักดันนโยบายการออกแบบถนน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์มากขึ้น โดยมุ่งเน้นลดจุดตัดของกระแสจราจรระหว่างรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ เช่น ทำทางรอดหรือจุดกลับรถใต้สะพาน เป็นต้น
  5. ส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น หลอดไฟหน้า ไฟท้าย ระบบเบรก และสภาพยาง
  6. พิจารณาจัดตั้ง “ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ” เพื่อให้ได้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุดต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง