คัดลอก URL แล้ว
สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ

สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ

สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ ขอชาวบ้านร่วมรักษาวินัยจราจร หลังสถิติ ‘ชน-ตาย’ บนถนนยังพุ่งสูง!

“อุบัติเหตุทางถนน” ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในทุกพื้นที่ของประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือที่ “กาฬสินธุ์” จังหวัดที่มีประชากรมากกว่า 9 แสนคน ในจำนวนนี้กว่า 7 แสนคน ต้องเดินทางสัญจรเป็นประจำทุกวัน ทำให้ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมียานพาหนะส่วนตัว โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ขับขี่ไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งพบว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้อุบัติเหตุและการชนบนถนนเพิ่มสูงขึ้น เป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะเยาวชนอายุ 18-25 ปี และวัยทำงาน อายุ 25-45

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) นำคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน จ.กาฬสินธุ์

ชาวกาฬสินธุ์ กว่า 80% ขับมอเตอร์ไซค์ “ไม่สวมหมวกกันน็อค”

สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแม้ จ.กาฬสินธุ์ จะตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ตามนโยบายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี 2554-2563 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากร 1 แสนคน แต่อัตราการเสียชีวิตกลับยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สถิติอุบัติเหตุยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ยการตายจากอุบัติเหตุทางถนน ประมาณ 21 ต่อแสนประชากร ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 22 ต่อแสนประชากร ในปี 2563 หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 195 ราย และที่น่าเป็นห่วงคือ กว่า 80% เป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจังหวัดได้ดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับแก้ไขจุดเสี่ยง รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ จัดอบรมขับขี่ปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด แต่ผลลัพธ์กลับยังไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ จึงนำค่านิยมข้อที่ 5 ในเรื่อง “การรักษาวิจัยจราจร” รณรงค์ขยายสู่สังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้นำวินัยจราจรไปบอกต่อด้วยความเข้าใจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยหวังว่าในอนาคตข้างหน้าชาวกาฬสินธุ์จะมีวินัยจราจรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พบทั่วทั้งจังหวัด มีจุดเสี่ยงมากถึง 50 จุด

สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ

ด้าน นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ให้ข้อมูลว่า ทั่วทั้งจังหวัดมีจุดเสี่ยงกว่า 50 จุด ปัจจุบันแก้ไขไปประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นจุดเสี่ยงทางกายภาพที่เป็น “จุดตัดไม่มีเกาะกลาง” ระหว่างถนนสายหลักกับสายรอง ทำให้ผู้ขับขี่กลับรถตลอดระยะทาง กลายเป็นอุบัติเหตุรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต เฉลี่ยปีละ 10-15 ราย จึงแก้ไขจุดเสี่ยงเป็นเกาะยก เพื่อลดการตัดกระแสรถทางตรง เปลี่ยนจากจุดตัดเป็นบังคับเลี้ยวซ้ายให้ไปกลับรถข้างหน้า ทำให้ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต ซึ่งการแก้ไขแต่ละจุดเสี่ยงนั้น จะยึดตามความต้องการของคนในพื้นที่ ความคุ้มทุนและความปลอดภัย ตามหลักวิศวกรรมจราจร

การแก้ไขปัญหาต้องหาความร่วมมือกับคนในพื้นที่ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน ร่วมเป็นสมาชิกเพื่อป้องปรามคนในชุมชน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับรถจักรยานยนต์ พร้อมนำปัญหาและสถิติการเกิดอุบัติเหตุ มาวิเคราะห์หาทางแก้ไข โดยเฉพาะเร่งผลักดันเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัย โดยมีการยกร่างคำสั่งประกาศเป็นวาระจังหวัด กำหนดให้สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขี่รถจักรยานยนต์

เดินหน้ารณรงค์ – สร้างการรับรู้ ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่

สอจร. ลุย “กาฬสินธุ์” ถอดรหัสมาตรการลดอุบัติเหตุ

“การปรับพฤติกรรมคนที่ไม่ชอบสวมหมวกกันน็อค ต้องสร้างการรับรู้ พูดบ่อยๆ ซ้ำๆ แม้เบื่อแต่ก็ต้องพูดอีก ถ้าไม่พูดประชาชนจะไม่ตระหนัก ต้องทำให้เหมือนกับการรับมือโควิด19 ที่ทุกคนพร้อมใจสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ต้องทำคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่ และการลดใช้ความเร็ว” หัวหน้า ปภ.กาฬสินธุ์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี ประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ระบุว่า มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด การปฏิรูปประเทศให้สัมฤทธิ์ผลภายในปี 2565 ซึ่งแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กำหนดเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง