ประทานโอกาสทางการศึกษา
“คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียน หมายความว่าจะต้องเรียนให้รู้วิชา ฝึกหัดทำการงานต่าง ๆ ให้เป็น อบรมขัดเกลา ความประพฤติ และความคิดจิตใจให้ประณีต ให้สุจริต แจ่มใส และเฉลียวฉลาด มีเหตุผล เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง”
– พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” ประจำปี ๒๕๓๕
“อนาคตของชาติทุกชาติย่อมขึ้นอยู่กับเด็ก เพราะเด็กก็คือผู้ใหญ่ในเวลาข้างหน้า ถ้าบุคคลได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดีอยู่ในศีลในธรรม เคารพต่อบทกฎหมายของบ้านเมืองตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นพลเมืองของประเทศก็จะมีแต่คนดี และประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ก็โดยต้องมีพลเมืองดีดังว่านี้”
– พระราชดำรัสตอบ คำกราบบังคมทูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องในโอกาส
เปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง วันจันทร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๕
พัฒนาคุณภาพชีวิต
“การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนให้การประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้น ต่อไปได้โดยแน่นอน”
– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗
“ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และต่างคนต่างก็ได้เกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง”
– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓
รู้รักสามัคคี
“การที่ในประเทศใด มีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะ ในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้น เป็นความทุกข์ ทุกคนต้องการความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม”
– พระราชดำรัส ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๗
“ปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คนหลายๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง บั่นทอนทำลายความเจริญ และความสำเร็จ”
– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓
“เมืองไทยนี้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความเสียสละ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความดีนี้ตลอดต่อไป ที่ต้องรักษาบ้านเมืองไว้ ท่านทั้งหลายคงเข้าใจเพราะเราเห็นว่าบ้านเมืองของเราอยู่ได้สบาย อาศัยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และถ้ารักษาความเห็นอกเห็นใจนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็จะเป็นที่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ และน่าสบายต่อไปชั่วกาลนาน”
– พระราชดำรัส พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดขอนแก่น
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙
“ความสามัคคีนั้นอาจจะหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกัน ความคิดต่างกันซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดอง ด้วยการใช้ปัญญาการแย้งต่างๆ ย่องเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุข มีความเป็นปึกแผ่น”
– พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย
วันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๗
น้อมนำความดีอย่างมีสติและพอเพียง
“คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดอันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
– พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”
– พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำของตนให้รอบคอบอยู่เสมอ ระมัดระวังทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความมีสติ และด้วยรู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้โดยตลอด และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงานและการครองชีวิต”
– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖
“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”
– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖