นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบและรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2568 พบว่ามีข้อความเข้ามาทั้งหมด 824,742 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งสิ้น 435 ข้อความ
ช่องทางที่พบเบาะแสมากที่สุดคือ ข้อความจาก Social Listening จำนวน 432 ข้อความ รองลงมาคือการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 145 เรื่อง โดยได้รับผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 53 เรื่อง
กระทรวงดีอีได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 67 เรื่อง กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 41 เรื่อง กลุ่มภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง กลุ่มเศรษฐกิจ จำนวน 3 เรื่อง และกลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 24 เรื่อง
โดยข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือเรื่อง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3! โอนตามลำดับเลขท้ายบัตรประชาชน เช็กสิทธิ์ด่วน!” ซึ่งกระทรวงดีอีได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 ตามเลขบัตรประชาชน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2568) ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุและอยู่ในช่วงการจ่ายเงินซ้ำสำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ์แต่ไม่สามารถรับเงินได้ในครั้งแรก
อันดับ 2 คือเรื่อง “ออมสินปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวละ 100,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน” ซึ่งกระทรวงดีอีประสานกับธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จเช่นกัน โดยธนาคารออมสินยืนยันว่าไม่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวละ 100,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน และบัญชีที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าวเป็นบัญชีปลอมของมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อและโลโก้ของธนาคารไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในอันดับถัดมาประกอบด้วย เรื่องประกันสังคมวิกฤติ, ประกันสังคมเพิ่มค่าทำฟัน, ปรากฏการณ์ฝูงปลาขึ้นฝั่งก่อนเกิดสึนามิ, การอาบน้ำรุนแรง-ใช้น้ำร้อนจัดเสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบ และการให้บริการทำใบขับขี่ออนไลน์
“ข่าวปลอมส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กองทุนประกันสังคม การให้บริการทำใบขับขี่ของกรมขนส่งทางบก เรื่องปรากฎการณ์ธรรมชาติ และเรื่องสุขภาพ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อประชาชน โดยในส่วนของข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กองทุนประกันสังคม และการให้บริการทำใบขับขี่ออนไลน์นั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวังการแอบอ้างของมิจฉาชีพ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินได้” นายเวทางค์กล่าว
กระทรวงดีอีเน้นย้ำว่า มีความห่วงใยประชาชนเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่แพร่กระจายบนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันและส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม อาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อนเชื่อหรือแชร์ต่อ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสข่าวปลอมและอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบได้ที่ สายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง), Line ID: @antifakenewscenter หรือเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com