คัดลอก URL แล้ว
ศธ. ย้ำอีกครั้ง “ปิดฉากทรงผมนักเรียน” ยกเลิกแล้ว 100 % ให้ความสำคัญกับสิทธิผู้เด็ก

ศธ. ย้ำอีกครั้ง “ปิดฉากทรงผมนักเรียน” ยกเลิกแล้ว 100 % ให้ความสำคัญกับสิทธิผู้เด็ก

วันที่ 5 มีนาคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟร. 24/2563 เพิกถอน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนและการใช้เครื่อสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวยที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน

โฆษก ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้เรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกหนังสือยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อไม่ให้กฎระเบียบจำกัดเสรีภาพในร่างกายของนักเรียน

ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเพิกถอนกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวโดยระบุเหตุผลว่า เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรม พร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่เป็นพลเมืองตีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน รวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง

แน่นอนว่าที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้รับฟังทุกเสียงของผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนในสังคม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาทีละจุดให้เกิดความเรียบร้อยจนเกิดเป็นที่พึงพอใจได้หลายส่วน ซึ่งในส่วนของการดำเนินการของศาลปกครองเรื่องเพิกถอนกฎกระทรวงฯ ในวันนี้ ก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลากระบวนการพิจารณาคดีปกครอง ที่ต้องมีการพิพากษาชี้ขาดภายในระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน แต่กฎระเบียบดังกล่าวในทางปฏิบัติเราได้ยกเลิกมานานแล้ว

“กระทรวงศึกษาธิการและเน้นย้ำเน้นย้ำกับครูและสถานศึกษามาโดยตลอดในเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของผู้เรียน และระมัดระวังการลงโทษที่เกินกว่าเหตุเพื่อไม่ให้กระทบร่างกายและจิตใจผู้เรียน สอดคล้องนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายและเป็นธรรมในทุกด้าน กฎระเบียบอะไรที่ปรับแล้วไม่เกิดความเสียหาย เราก็ไม่ได้ยึดติดพร้อมเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ” โฆษก ศธ. กล่าว

ไทม์ไลน์การดำเนินการเรื่องยกเลิกระเบียบทรงผมของกระทรวงศึกษาธิการ รายละเอียดดังนี้

  1. เรื่องทรงผม เดิมถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่1 และ 2 ออกตาม ปว 132 จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ก็ยังถือปฏิบัติตลอดมาตามบทเฉพาะกาลเพราะยังไม่ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่
  2. ปี 2548 ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาแต่ไม่ได้กำหนดเรื่องของทรงผม ยังคงถือปฏิบัติต่อมา
  3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการว่าเราควรจะมีระเบียบกลางเกี่ยวกับเรื่องทรงผมเพื่อเป็นแนวทาง เนื่องจากมีนักเรียนไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะสถานศึกษาแต่ละแห่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน
  4. ปี 2563 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยทรงผมนักเรียน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
  5. เดือนสิงหาคม 2565 นักเรียนร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับทรงผมดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเราจึงได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  6. สำนักงานคณะกรรมการกษฎีกา ได้ตอบข้อหารือ กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) สิ้นผลใช้บังคับนับแต่วันที่กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ และกระทรวงศึกษาธิการไม่อาจออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2546 เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อใช้บังคับแก่นักเรียนโดยตรงได้
    แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการอาจกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนและแจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาออกระเบียบของสถานศึกษาเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 (1) พรบ.ศธ. 2546
  7. ปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกระเบียบกระทรวงเพื่อยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน พ.ศ. 2563 และขณะเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกนโยบายแจ้งเวียนไปยังส่วนราชการและสถานศึกษา มีสาระสำคัญ กล่าวคือ จัดให้มีระเบียบของสถานศึกษาเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นักเรียน และต้องขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสถานศึกษาหรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียน รวมทั้งเผยแพร่ระเบียบดังกล่าวให้นักเรียนทราบต่อไป
  8. 21 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการแจ้งครูและสถานศึกษาในสังกัดถึงการระมัดระวังการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ต้องเป็นไปตามแนวทางการลงโทษ​ 4​ สถานเท่านั้น​ คือ​ ว่ากล่าวตักเตือน ทําทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทํากิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​ ช่วย​กันปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับบริบทสังคม
    https://moe360.blog/2024/11/21/hairstyle_rules/
  9. 3 มกราคม 2568 กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำเรื่องยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน โดยให้สถานศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้เรียน ส่งเสริมความหลากหลายและเป็นธรรมในทุกด้าน
    https://moe360.blog/2025/01/03/abolish-hairstyle-rules/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา