นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยหัวข้อเปิดว่า #กรรมไล่ล่าทักษิณ พร้อมอธิบายต่อว่า
ช่วงนี้เรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร มีหลายเรื่อง ทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แพทยสภา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีประชาชนหลายคน โทรมาสอบถามตน และบอกว่า งงไปหมดแล้ว
ตนจึงขอสรุปให้ง่ายๆ แบบบ้านๆ เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากนายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปีเหลือ 1 ปี แต่เมื่อเข้าเรือนจำ อ้างว่า ป่วยวิกฤติ ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ จึงต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ปัญหาคือ คนไม่เชื่อว่า “นายทักษิณป่วยวิกฤติ” จริง
แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ได้รับการร้องเรียนได้ลงมาตรวจสอบ ก็มีบทสรุปว่า ไม่อาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณป่วยวิกฤติจริง จึงได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ
การร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ นอกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมี เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรม ศปปศ. พรรคไทยภักดี และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตั้งองค์คณะไต่สวน ล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ก็ได้ไปให้ปากคำเพิ่มเติม
ถ้าผลการสอบของ ป.ป.ช.ว่า นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติ เป็นการช่วยเหลือนายทักษิณให้ไม่ต้องนอนเรือนจำ แต่ให้ไปนอนสบายไปชั้น 14 ผู้เกี่ยวข้องทั้งราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ อาจลามไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อย่างน้อยต้องโดนข้อหา ตามมาตรา 157 แต่ทุกอย่าง ป.ป.ช. ถ้าชี้มูล ว่ามีความผิด จะต้องผ่านอัยการ และไปจบที่ศาล
ส่วนที่มีการร้องแพทยสภา เป็นการร้องจริยธรรมแพทย์ ที่ทำการรักษานายทักษิณ ว่าที่นายทักษิณมานอนให้รักษานั้น เป็นการช่วยเหลือหรือไม่ ป่วยวิกฤติจริงหรือไม่ แพทย์ที่ทำการรักษา ออกใบรับรองแพทย์รายงานราชทัณฑ์ช่วงรักษาครบ 30 วัน 60 วัน 120 วัน ตรงไปตรงมาหรือไม่
หากแพทยสภาสอบพบว่า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่นายทักษิณ นอนโรงพยาบาลตำรวจ 180 วัน ไม่มีอาการวิกฤติ เท่ากับว่า แพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ รายงานเท็จ ถือว่าขัดจริยธรรมแพทย์ ก็ถูกลงโทษเฉพาะแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
แต่ผลที่แพทยสภาตรวจสอบ จะเป็นประโยชน์ต่อป.ป.ช. ที่ ป.ป.ช.จะใช้ประโยชน์ได้ สามารถนำไปดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งแพทย์และฝ่ายบริหารของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งโรงพยาบาลตำรวจ อาจถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในความผิดตามมาตรา 157
ส่วนประเด็นที่มีการร้องมาที่ศาลฎีกาฯ เป็นเรื่องของข้อกฏหมาย การที่ราชทัณฑ์ส่งนายทักษิณมาที่ร.พ.ตำรวจ เขาอ้างว่าเขามีอำนาจ ตามมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์. พ.ศ. 2560 เมื่อรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ยังถือว่า นายทักษิณติดคุกด้วย ตามวรรคท้ายมาตรา 55 นี้เช่นกัน
นายทักษิณจึงได้กลับบ้าน เพราะถือว่าระหว่างรักษาตัวที่โรวพยาบาลตำรวจ (ตามอ้างว่าป่วยวิกฤติ) ถือว่า ติดคุกแล้ว ด้วยการพักโทษกรณีพิเศษและช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย ด้วยคะแนนช่วยเหลือตนเอง 9 คะแนน จากเต็ม 20 คะแนน
มีนักกฏหมายชุดหนึ่งมองว่า ป.วิอาญา พ.ศ.2477 มาตรา 246 การที่ราชทัณฑ์อ้างว่า นายทักษิณป่วยวิกฤติ จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ตามข้อ (2) ของมาตรานี้ ราชทัณฑ์ต้องขอนุญาตศาลก่อน ไม่ใช่ทำได้เอง ที่สำคัญในวรรคท้ายของมาตรา 246 ยังระบุว่า การไปรักษาตัวแบบนี้ ไม่ถือว่าติดคุก เมื่อรักษาหายแล้ว ต้องกลับไปติดคุก
เบื้องต้นดูเหมือนกฏหมายจะขัดแย้งกัน ฝ่ายราชทัณฑ์ก็อ้างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์. พ.ศ. 2560 มาตรา 55 อีกฝ่ายก็อ้าง ป.วิอาญา 2477 มาตรา 246 บังเอิญว่า ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์. พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ซึ่งเป็นกฏหมายราชทัณฑ์เอง ยังระบุว่า ฝ่ายราชทัณฑ์จะมีกฏ ระเบียบ ต้องไม่ขัดแย้งกับ ป.วิอาญา เท่ากับว่า ป.วิอาญาใหญ่กว่า กฏหมายราชทัณฑ์
ทีมกฏหมายนี้จึงไปร้องศาลให้ไต่สวน ข้อสังเกตตามนี้ ราชทัณฑ์มีอำนาจก็จริง แต่ต้องไปขออนุญาตจากศาล ไม่ใช่ทำตามใจชอบ และนักโทษต้องกลับมาติดคุก ไม่ว่าจะป่วยวิกฤติหรือไม่ ถ้าป่วยวิกฤติก็ต้องขอศาลและกลับมาติดคุก แต่ถ้าไม่วิกฤติ เรื่องก็จะลามใหญ่ขึ้นอีก จะมีคนอื่นติดคุกตามด้วย
นี่คือการรวบรวมประเด็นต่างๆ ให้พี่น้องประชาชน เข้าใจแบบง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องนายทักษิณชั้น14 ผลจะออกมาอย่างไร ต้องรอศาลฏีกาฯ รอ ป.ป.ช. รอแพทยสภา ส่วนตัวผมเชื่อว่า “กรรมกำลังไล่ล่า”