คัดลอก URL แล้ว
เตรียมส่ง ทีมนักวิจัยไทย พร้อมเดินหน้าสู่แอนตาร์กติก “ขั้วโลกใต้” เพื่อศึกษาต่อเนื่องผลกระทบของโลกร้อน 

เตรียมส่ง ทีมนักวิจัยไทย พร้อมเดินหน้าสู่แอนตาร์กติก “ขั้วโลกใต้” เพื่อศึกษาต่อเนื่องผลกระทบของโลกร้อน 

จากการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสส่งนักวิจัยไทยไปที่ทวีปแอนตาร์กติก กับประเทศจีน  ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สิ้นเดือนมกราคมนี้  ทางโครงการฯ เตรียมส่งนักวิจัยมุ่งหน้าสู่แอนตาร์กติก ขยายผลศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบนิเวศแอนตาร์กติก  รวมทั้งศึกษาผลกระทบของมลพิษอื่นๆ เช่นขยะทะเล  และไมโครพลาสติกที่มีต่อระบบนิเวศที่แอนตาร์กติก อีกด้วย

ในปีนี้ ทางโครงการฯ จะส่งนักวิจัย 3 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพาและช่างภาพ 1 คน เพื่อไปร่วมสำรวจคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน คณะที่ 41 (CHINARE 41) ของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) โดยทีมวิจัยจะศึกษาผลกระทบของขยะทะเล ไมโครพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ที่มีต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเล ณ บริเวณสถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) และพื้นที่ใกล้เคียง ทวีปแอนตาร์กติก เป็นระยะเวลา 16 วัน (ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 15กุมภาพันธ์ 2568)  นอกจากนี้ การไปครั้งนี้จะมีการเก็บภาพและวิดิโอ เพื่อใช้ในการจัดทำหนังสือและสารคดีเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยขั้วโลกของไทย เนื่องในโอกาสปี 2568 นี้ เป็นปีมหามงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 70 พรรษา พร้อมทั้งเป็นการครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา  ชวนิชย์  อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยผู้เปิดประตูสู่งานวิจัยสภาพภูมิอากาศขั้วโลกคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่มีโอกาสเดินทางไปที่แอนตาร์กติก และอาร์กติกหลายครั้ง  จะเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่จะเดินทางไปครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า “การเดินทางไปครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ของตัวเอง  และคาดว่าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างที่ขั้วโลกใต้มากกว่าที่เคยไปครั้งก่อนๆ  เพราะตอนนี้โลกของเราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาก  อากาศร้อน ก็ร้อยสุดโต่ง  หนาว ก็หนาวสุดโต่ง  การไปครั้งนี้จะไปสำรวจด้วยว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้มีการละลายเนื่องจากโลกร้อนมากแค่ไหน  และทางทีมยังมีแปลนที่จะใช้เครื่องโดรนใต้น้ำ เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตในน้ำบริเวณขั้วโลกด้วย 

“การเดินทางเข้าร่วมการวิจัยกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีนครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความก้าวหน้าของงานวิจัยและนักวิจัยไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความยั่งยืนของงานวิจัยขั้วโลกและสิ่งแวดล้อมทางทะเลขั้วโลก และยังการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลในทวีปแอนตาร์กติก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบการศึกษาอื่นเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตของประเทศไทยต่อไป”ศ.ดร.สุชนากล่าว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา