ในวันที่ 8 ม.ค. 68 พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยรัฐบาลได้วางแนวทางการสกัดกั้นยาเสพติดที่ชัดเจน พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม (กห.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), กองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงมหาดไทย เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ายาเสพติดผ่านแนวชายแดน โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้น และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนโดยจะต้องเห็นผลภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเริ่มคิกออฟ
ในวันที่ 30 ม.ค.68 นี้
แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนการสกัดกั้นยาเสพติดครั้งนี้จะใช้แนวทาง “ซีลชายแดนสองชั้น” เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงสูง ของพื้นที่ 51 อำเภอ ใน 14 จังหวัด โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นแรก (แนวชายแดน) เป็นความรับผิดชอบของ กองกำลังป้องกันชายแดน สนธิกำลังระหว่างตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยที่ทหารรับผิดชอบดูแลสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจ และสกัดจับยาเสพติดตามช่องทางธรรมชาติ เน้นการป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ที่มียาเสพติดเข้ามาปริมาณมาก (เนื่องจากชายแดนไทยกว้างขวางและยาว มีช่องทางธรรมชาติอีกจำนวนมาก) และในชั้นที่สอง (พื้นที่ตอนในระดับอำเภอ) เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ตำรวจ นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ในการป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติด ทั้งการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ ซึ่งจะมีการเรียกประชุมผู้กำกับการสถานีตำรวจ 76 สถานีตำรวจ, นายอำเภอ 51 อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมมีการประเมินผลงานทุกวงรอบ 6 เดือนโดยใช้โมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เช่น ท่าวังผาโมเดล (จ.น่าน) ซึ่งมีวิธีการดำเนินโครงการฯ ดังนี้ สำรวจพื้นที่, แยกผู้เสพ ยึดทรัพย์ จับคนขาย, ฟื้นฟูผู้ป่วย และส่งลูกหลานกลับสู่สังคม และ ธวัชบุรีโมเดล (จ.ร้อยเอ็ด) ดำเนินโครงการฯ ดังนี้ ชุดปฏิบัติการ ปปส. ซักถามกรอกแบบฟอร์ม ทำรายงานสืบสวน, กรอกข้อมูลเข้าระบบออนไลน์ อุปกรณ์ตรวจปัสสาวะ บันทึกเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์, การขยายผล/ รวบรวมพยานหลักฐาน, เครือข่าย (ผู้ค้า,ผู้เสพ), วิเคราะห์ข้อมูล, ส่งพนักงานสอบสวน และขยายผล/ยึกทรัพย์/ฟอกเงิน ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนเชิงรุกและบูรณาการเพื่อลดปัญหาในระยะยาว มุ่งสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมทั้งลดปัญหาผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติด ซึ่งการร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ และกอ.รมน. หน่วยงานความมั่นคง
จะสามารถช่วยในการป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติดในระดับพื้นที่ได้ โดยมอบอำนาจการควบคุมลงไปถึงระดับอำเภอ คือนายอำเภอ ระดับสถานีตำรวจ คือผู้กำกับ ในการช่วยกันป้องกัน สกัดกั้น ปราบปราม และเฝ้าระวังตรวจตราในพื้นที่เป้าหมาย การดำเนินงานในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหายาเสพติด
ให้หมดไปจากประเทศไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความปลอดภัย พร้อมมุ่งมั่นให้ปี 2568 เป็นปีที่ปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม