วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เมื่อเวลา 13.40 น. กองบังคับการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชีของนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ว่า ได้มีการตรวจสอบพบเส้นเงินประมาณ 4-5 แสนบาท ที่เข้าข่ายการกรรโชกทรัพย์ จึงได้เรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ ซึ่งขณะนี้ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความฐานกรรโชกทรัพย์ไว้แล้ว ทำให้ตอนนี้นายสามารถต้องถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 1 คดี โดยให้กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เป็นผู้รับผิดชอบ
พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว กล่าวอีกว่า โดยผู้เสียหายรายนี้ เป็นผู้ประกอบการเปิดบริษัทเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งได้มีเอกสารยืนยันการทำธุรกิจอย่างถูกต้องมาตลอด แต่ปรากฏว่านายสามารถได้ติดต่อไปข่มขู่ว่า บริษัทมีจุดหมิ่นเหม่ที่จะผิดกฎหมาย ทางบริษัทพยายามจะชี้แจง แต่นายสามารถก็ไม่รับฟัง และเรียกรับเงิน โดยตอนแรกเรียกเดือนละ 5 หมื่นบาท ผู้เสียหายจึงต่อเหลือเดือนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งมีการจ่ายมาหลายเดือน รวมเป็นเงินประมาณ 4-5 แสนบาท ลักษณะแผนประทุษกรรมจะคล้ายกับกรณีของนางสาวกฤษอนงค์ ที่อ้างว่าตัวเองมีความรู้แล้วเข้าไปเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย
ซึ่งจะสามารถเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายสามารถในเรือนจำได้เร็วๆ นี้หรือไม่นั้น ตอนนี้พนักงานสอบสวนกำลังสอบสวนอยู่ แต่มีเส้นเงิน และชัดเจนแล้วว่ามีการบังคับขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายต้องยอมจ่ายเงินจำนวนนี้ และนอกจากเส้นเงินนี้แล้ว ยังพบเส้นเงินอีกเกือบ 2 ล้านบาท ที่เชื่อมโยงไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายสามารถ โดยเป็นเงินที่บอสพอลและบอสปีเตอร์โอนมาให้ ซึ่งเรื่องนี้ได้เรียกบุคคลใกล้ชิดคนดังกล่าวมาสอบปากคำแล้ว พบว่าให้การเป็นประโยชน์ แต่คดีหลักตอนนี้อยู่ที่ดีเอสไอ ซึ่งคาดว่าดีเอสไอจะต้องไปสอบสวนเพิ่มเติมเพราะยังไม่มีข้อมูลเรื่องเส้นเงินนี้
ส่วนกรณีที่นายสามารถประท้วงอดอาหารจนมีอาการป่วยว่า อย่าทำแบบนี้เลย ถ้ามีความผิด ศาลก็จะต้องพิจารณาตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่ว่าจะผูกคอตาย หรืออดอาหารตายแล้วศาลจะให้ประกันตัว ไม่งั้นก็ได้ประกันกันหมดแล้ว กระบวนการยุติธรรม มีหลักเกณฑ์ พิจารณาเป็นกรณีไป ดังนั้น อย่าทำเพื่อจะได้รับการประกันตัว ให้ไปสู้กันในชั้นศาล