ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2567 มีมติเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบเรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2568 ให้จ่ายหนี้รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว 14,000 ล้านบาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี (BTSC) ในส่วนค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีเงินสะสมอยู่ 50,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการใช้หนี้ หลังจากนี้ จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด คาดว่าจะอนุมัติชำระหนี้ได้ก่อนสิ้นปีนี้(67) เร็วกว่าคำพิพากษาที่ระบุให้ชำระหนี้ ก่อนวันที่ 21 มกราคม 68
ขณะที่ ผู้ว่าฯ กทม. เชื่อว่า การชำระหนี้ก้อนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี จากการที่เอกชนนำเงินไปดำเนินธุรกิจต่อ
นอกจากหนี้ส่วนนี้ ก็ยังมีส่วนอื่นอีก ทั้งหนี้ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง 1 คดี ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงในอนาคต รวมถึงสัมปทานการเดินรถพื้นที่ไข่แดง (สายสีสม-สุขุมวิท) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ก่อนโอนย้ายกลับมาอยู่ในการดูแลของ กทม. ซึ่งต้องพิจารณาต่อหลังจากนี้
สรุปยอดหนี้ที่ กทม. ต้องแบ่งชำระให้เอกชนมี 4 ส่วน คือ
- ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้ กทม. และ KT (บจ.กรุงเทพธนาคม) ชำระให้ BTS กว่า 11,755 ล้านบาท
- ยอดหนี้ที่ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1-2 กว่า 11,811 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการพิจารณา)
- ยอดหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1-2 ตั้งแต่ พ.ย.65 – มิ.ย.67 กว่า 13,513 ล้านบาท
- ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1-2 ตั้งแต่ปัจจุบัน-สิ้นสุดสัมปทาน ปี 2585 ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อฟ้องร้อง หรือมีเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก