คัดลอก URL แล้ว
พลังประชารัฐ แนะยกเลิก MOU 2544 ทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ เหตุทำไทยเสียเปรียบ

พลังประชารัฐ แนะยกเลิก MOU 2544 ทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ เหตุทำไทยเสียเปรียบ

วันนี้ (8 พ.ย.67) ประมาณ 11.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ จัดแถลงข่าว “MOU 2544 ภาคต่อ EP.2” โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานกรรมการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กล่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ขัดขวางการเจรจาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน และยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดถูกละเมิดบนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982

พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ยกเลิก MOU 2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะ MOU 2544 มีปัญหาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน มีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมาย ดังนั้นการเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากล หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้นคือ จะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทยในระยะยาว จะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวต่อว่าเรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดน พรรคพลังประชารัฐ ตรวจสอบพบว่ารัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล แต่กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ซึ่งขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีปกับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958

MOU 2544 ยังเป็นการลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่ราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร MOU 2544 จึงทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากล

อย่างไรก็ตามการลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิของกัมพูชายังทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

รัฐบาลได้อธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฏข้อความว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรง ๆ ว่ายอมรับ แต่แผนที่คือ เอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบ เส้นเขตแดนของกัมพูชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ และทำให้ไทยเสียหาย

หากจะเทียบกรณีไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา จะเห็นว่ามีการดำเนินการที่เร่งรีบผิดปกติ โดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด ขณะที่กรณีไทย-มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม และอาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตามหากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทย-กัมพูชา จะถือเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลก เพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตารางกิโลเมตรในอนาคต

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้แจงกรณีการเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ 2.สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ 3.อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ดังนั้นจึงขอเรียกร้องร้องไปยังระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้

1.กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
2.กระทรวงการต่างประเทศเคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่
3.กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชา ซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้เพราะเหตุใด
4.MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากลใช่หรือไม่
5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่

นายธีระชัย ระบุว่าหัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากล เพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU

ภายหลังการแถลงข่าวนายสนธิรัตน์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ของแกนนำรัฐบาลที่เกาะกูด จังหวัดตราดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการลากเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน แต่ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วนการยกเลิก MOU 2544 หากรัฐบาลยกเลิกและร่างบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ และนำสิ่งที่เป็นข้อโต้แย้งไปประกอบ โดยเริ่มต้นจากการแบ่งเขตการเจรจาภายใต้กฎหมายสากล ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่เกิดเชื่อว่าการเจรจาอย่างไรก็เป็นไปได้ยาก เส้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเพราะสุดท้ายติดปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน สำหรับการยกเลิก MOU2544 เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้ผ่านการเมืองการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลที่พรรคมีนั้น เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง