ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทนายความจิตอาสาจริง ๆ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อทนายความพบว่า
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีอยู่จริงของทนายความจิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยใจ ไม่สนใจผลประโยชน์หรือการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 52.44 ระบุว่า มีจริง แต่ไม่มากเท่าไร
- ร้อยละ 26.56 ระบุว่า ไม่มั่นใจว่ามีจริง
- ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่มีจริง
- ร้อยละ 4.12 ระบุว่า มีจริง จำนวนมาก
ด้านบุคคลหรือหน่วยงานที่ประชาชนไว้ใจในการขอความช่วยเหลือหากไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากคดีความที่ฟ้องร้องผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย
- ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง
- ร้อยละ 19.16 ระบุว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด
- ร้อยละ 13.44 ระบุว่า ไม่ไว้ใจใครเลย
- ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ทนายอาสาจากสภาทนายความ
- ร้อยละ 11.37 ระบุว่า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111
- ร้อยละ 9.01 ระบุว่า ทนายทั่วไป
- ร้อยละ 8.17 ระบุว่า ทนายอาสาจากเนติบัณฑิตยสภา
- ร้อยละ 6.87 ระบุว่า ทนายที่มีชื่อเสียง
- ร้อยละ 1.60 ระบุว่า นักการเมือง
- ร้อยละ 4.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความไว้วางใจของประชาชนต่อความช่วยเหลือที่จะได้รับจากการใช้บริการหรือขอคำปรึกษาจากทนายความ พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ
- ร้อยละ 36.11 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ
- ร้อยละ 12.52 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย
- ร้อยละ 8.78 ระบุว่า ไว้วางใจมาก
- ร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ