คัดลอก URL แล้ว
ดัชนีอำนาจเอเชีย อินเดียแซงญี่ปุ่นขึ้นที่ 3 ไทยคงที่ แต่วัฒนธรรมแซงหน้าเกาหลีใต้

ดัชนีอำนาจเอเชีย อินเดียแซงญี่ปุ่นขึ้นที่ 3 ไทยคงที่ แต่วัฒนธรรมแซงหน้าเกาหลีใต้

สถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลีย ได้รายงานผลการจัดอันดับดัชนีอำนาจในเอเชีย หรือ Asia Power Index ประจำปี 2567 โดยผลการจัดอันดับในปีนี้พบว่า

อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐฯ ส่วนจีนเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งแม้ว่า ทั้งสองประเทศจะยังคงอันดับเดิม แต่แนวโน้มของอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนในอันดับที่ 3 คือ อินเดีย ที่สามารถเบียดญี่ปุ่นร่วงลงไปอยู่ในอันดับที่ 4 ได้ หลังญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ 3 มาอย่างยาวนั้น นับตั้งแต่ปี 2018 แม้ว่า ทั้งสองประเทศจะมีคะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากหลายด้าน ส่งผลให้คะแนนที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มากพอที่จะรั้งอันดับ 3 ไว้ได้

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นมาจาก ปัจจัยโครงสร้างทางสังคมในระยะยาว นั่นคือ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้ส่งผลต่อการรักษาอำนาจในภูมิภาคต่อไปในอนาคต

ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกำลังสูญเสียให้กับชาติใหม่ ๆ เช่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน นักลงทุนเบนเข็มการลงทุนจากออกจากญี่ปุ่น ไปยังต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้คะแนนในส่วนนี้ ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จาก 56 คะแนน ลดลงเหลือ 36 คะแนนเท่านั้น

นอกจากนี้ แม้ว่า การลงทุนของญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่งอยู่ก็ตาม แต่พบว่า สัดส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลดลง โดยเฉพาะในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ไทยรั้งอันดับเพิ่ม – อิทธิพลทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น

สำหรับอันดับของประเทศไทยนั้นยังคงที่ในลำดับ 10 โดยมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในคะแนนของอิทธิพลทางวัฒนาธรรมที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น 1 อันดับ แซงหน้าเกาหลีใต้ไปแล้ว

โดยการให้คะแนนในหัวข้อนี้ จะเป็นการประเมินจากการส่งออกวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นที่รู้จักในภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาในโลกออนไลน์ การสร้างแบรนด์ระดับโลก สถานะของหนังสือเดินทาง ความเป็นแหล่งมรดกโลก

การประเมินยังพิจารณาความสามารถดึงดูดในแง่ของการศึกษาและข่าวสาร เช่นการติดตามข่าวของประเทศนั้น ๆ จากช่องทางต่าง ๆ จำนวนนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาเรียนในประเทศ

นอกจากนี้ ยังพิจารณาความมีอิทธิพลจากการเดินทางของผู้คนภายในภูมิภาคว่า มีศักยภาพในการดึงดูการเดินทาง การย้ายถิ่นฐานอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในการจัดอันดับดัชนีอำนาจแห่งเอเชีย 2024

สำหรับประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในการประเมินในครั้งนี้ มีหลายส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ต่อภูมิภาค

1. อำนาจของจีนยังทรงตัว

ในปีนี้ คะแนนของจีนยังคงอยู่ในอันดับเดิม มีทิศทางที่เริ่มทรงตัว แม้จะต่ำกว่า สหรัฐฯ แต่ยังคงเหนือกว่า ชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค

2. ความยืดหยุ่นของสหรัฐ

สหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการเสริมความแข็งแกร่งในเอเชียมากยิ่งขึ้น แม้ว่า จะเสียคะแนนบางส่วนให้กับประเทศจีน โดยเฉพาะด้านการทหาร

3. อินเดียเติบโตอย่างช้า ๆ

แม้อันดับของอินเดียจะขยับขึ้นแซงหน้าญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลของอินเดียในหลายด้าน ยังคงต่ำกว่า ศักยภาพของประเทศ ซึ่งทำให้เป็นโอกาสที่อินเดียยังคงขยับไปต่อได้

4. ญี่ปุ่นร่วง แต่แข็งแกร่ง

สำหรับญี่ปุ่น แม้ว่าอันดับจะร่วงมาอยู่ในอันดับที่ 4 แล้วก็ตาม แต่แนวโน้มในภาพรวมของญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่ง คะแนนหลายส่วนเป็นการเปลี่ยนผ่านจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สูง มหาอำนาจด้านกองทัพในส่วนของการป้องกันและความมั่นคงของประเทศและภูมิภาค

5. ชาติในเอาเซียนแข็งแกร่งมากขึ้น

คะแนนในปีนี้ หลายชาติในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีคะแนนเติบโตมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018

6. ออสเตรเลียเติบโตต่อเนื่อง

การไต่อันดับของออสเตรเลียยั้นยังคงขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถขึ้นมาติดในอันดับที่ 5 ได้

7. รัสเซียลดบทบาทในภูมิภาคนี้

คะแนนของรัสเซียลดลง มีความเกี่ยวข้องกับชาติต่าง ๆ ในเอเชียลดลง สืบเนื่องจากปัจจัยหลักนั้นคือ สงครามในยูเครน ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ รวมถึงความสนใจในภูมิภาคนี้ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ

ในการจัดอันดับในปีนี้ นอกจากอินเดียที่แซงญี่ปุ่นขึ้นมาแล้ว ยังพบว่า ออสเตรเลียขยับขึ้นแซงหน้ารัสเซียมาอยู่ในอันดับที่ 5 แล้ว

ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 15 ขยับแซงหน้าปากีสถานขึ้นมาหนึ่งอันดับ เช่นเดียวกับกัมพูชาที่ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 19 แซงหน้าบังคลาเทศแล้ว และ สปป.ลาว ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 22 แซงหน้าเมียนมาร์เป็นที่เรียบร้อย

ดัชนีอำนาจเอเชีย (Asia Power Index) คืออะไร

สำหรับการประเมินการจัดอันดับ ดัชนีอำนาจเอเชีย (Asia Power Index) นั้น เป็นการจัดอันดับความสามารถของประเทศ 27 ประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชีย โดยมีการให้คะแนนในหมวดต่าง ๆ หลายหมวดด้วยกั้น ทั้งความสามารถทางทหาร การป้องกันประเทศ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในอนาคตด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง