คัดลอก URL แล้ว
ฮิซบอลเลาะห์โดนซ้ำอีก “ว.ระเบิด” ตามหลัง เพจเจอร์ระเบิด

ฮิซบอลเลาะห์โดนซ้ำอีก “ว.ระเบิด” ตามหลัง เพจเจอร์ระเบิด

หลังจากที่เมื่อวานมีเหตุการณ์เพจเจอร์ระเบิดในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย และบาดเจ็บราว 2,800 รายตามที่ได้มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด สถานการณ์ในเลบานอนยังคงปั่นป่วนไม่หยุด หลังพบว่า วิทยุสื่อสาร หรือ ว. ที่มีการใช้งานกันได้เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง และเกิดขึ้นห่างกันเพียงวันเดียวเท่านั้น

โดยสื่อของเลบานอนได้รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุวิทยุสื่อสาร ระเบิดแล้วอย่างน้อย 20 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 500 ราย ในขณะที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขของเลบานอนที่ได้ออกมาแถลงการณ์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 450 ราย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดบ้านเรือน ร้านค้าและยานพาหนะเสียหายอีกจำนวนมาก

วิทยุสื่อสารรุ่นไหนระเบิด?

ตามรายงานได้ระบุว่า วิทยุสื่อสารที่เกิดการระเบิดนั้นเป็นวิทยุรุ่น IC-V82 ที่ผลิตโดย ICOM ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุคลื่น VHF ที่มีการใช้งานกันอยู่โดยทั่วไป ทั้งในการใช้เป็นวิทยุสมัครเล่นส่วนตัว หรือเฉพาะกลุ่ม ไปจนถึงการใช้งานในเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่ในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ

ทางด้านของบริษัทผู้ผลิตได้ระบุ สำหรับ ICOM IC-V82 นี้ เป็นหนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมใช้กัน ทำให้มีการปลอมแปลงออกวางจำหน่าย นอกจากนี้ บริษัท ICOM ซึ่งเป็นผู้ผลิตวิทยุสื่อสารรุ่นนี้ ยังระบุว่า รุ่น IC-V82 นี้เป็นรุ่นที่ยกเลิกการผลิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 และนั่นหมายความว่า วิทยุรุ่นนี้ ที่ยังคงมีวางจำหน่ายอยู่นั้น “เป็นของปลอม”

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สั่งมาจากไหน?

แม้ว่า ทาง ICOM ผู้ผลิตระบุว่า IC-V82 เป็นวิทยุสื่อสารที่ผลิตและส่งออกไปยังตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2004 ถึงเดือนตุลาคม 2014 โดยได้เลิกผลิตไปเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับเครื่องรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทได้ผลิตสินค้าตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด และผลิตในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีการผลิตในต่างประเทศแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จากภาพที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ พบว่า ตัวสติ๊กเกอร์ LOGO ของสินค้านั้น ไม่ได้เป็นแบบโฮโลแกรม แบบเดียวกับที่ของบริษัทใช้งานอยู่

แต่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เพิ่งทำการสั่งซื้อวิทยุสื่อสารรุ่นนี้มาเมื่อประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกันกับที่มีการจัดซื้อเพจเจอร์ที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้

สำหรับเพจเจอร์ที่เกิดระเบิดนั้น ทาง Gold Apollo ระบุว่า เป็นสินค้าที่ถูกบริษัท BAC Consulting  มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ซื้อสิทธิ์ไปผลิตต่อ แต่เมื่อมีการสืบค้นข้อมูลกลับพบว่า บริษัทดังกล่าวนั้น เป็นเพียงบริษัทตัวกลางเท่านั้น ไม่ได้มีโรงงานผลิต หรือสถานที่ประกอบการ หรือ โกดังแต่อย่างใด มีเพียงที่ตั้งแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไว้เท่านั้น

ส่วนบริษัท ICOM ก็ได้ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า จะทำการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และหากมีความคืบหน้า ก็จะมีการเผยแพร่ภายในเว็บไซต์ของบริษัทต่อไป

ว. ระเบิดได้อย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญยังคงให้น้ำหนักกับการแอบฝังชิ้นส่วนวงจรระเบิด และดินระเบิดขนาดเล็กสำหรับเป็นการจุดระเบิดให้กับแบตเตอรี่ลิเธียมของอุปกรณ์สื่อสารเหล่านั้น ซึ่งการแอบฝังชิ้นส่วนเหล่านี้ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของห่วงโซ่สินค้า

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวเลบานอนมากยิ่งขึ้น ถึงความปลอดภัยของการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่าง ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ประเมินว่า การสื่อสารภายในกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ยังคงสามารถขับเคลื่อนไปได้ แม้จะชะงักงันไปบ้างก็ตาม

นานาชาติกังวลมากยิ่งขึ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความกังวลให้กับหลายชาติมายิ่งขึ้น จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในภูมิภาค เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเหตุอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากที่เกิดระเบิดขึ้นในเลบานอน และซีเรีย จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ซึ่งทางสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งช่างใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดมายิ่งขึ้น และสนับสนุนให้มีการดำเนินการทางการทูต เพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

อิสราเอลยังนิ่ง

จากทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทางการอิสราเอลยังคงไม่มีท่าทียอมรับหรือปฏิเสธต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่หลายฝ่ายต่างมุ่งเป้าไปที่การปฏิบัติการของหน่วยมอสซาด และกองทัพอิสราเอล ที่เป็นผู้วางแผนและปฏิบัติการในครั้งนี้

ด้านนายโยอัฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้ระบุว่า อิสราเอล กำลังเปลี่ยนทิศทางของกองกำลังไปยังพื้นที่ทางเหนือมาขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ ของอิสราเอล ก็ได้กล่าวยืนยันถ้อยคำที่เคยกล่าวว่า เราจะส่งพลเมืองพลเมืองทางเหนือกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ได้มีการปะทะกันมาอย่างต่อเนื่อง บริเวณพรมแดนทางเหนือของอิสราเอล โดยเฉพาะยอ่างยิ่งในช่วงหลังจากที่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการบุกฉนวนกาซา


อ้างอิง –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง