คัดลอก URL แล้ว
[สรุป] ปฏิบัติการ “ระเบิดเพจเจอร์” สะเทือนโลก

[สรุป] ปฏิบัติการ “ระเบิดเพจเจอร์” สะเทือนโลก

เมื่อเพจเจอร์ระเบิดพร้อมกันหลายพันเครื่องในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกระบุว่า เกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ และปฏิบัติการนี้ ถูกชี้ไปที่ “อิสราเอล” ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สะเทือนโลกในครั้งนี้

เพจเจอร์คืออะไร?

เพจเจอร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงยุค 90 ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก เนื่องจากปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมมากกว่า และในประเทศไทยก็ได้ปิดการให้บริการเพจเจอร์ไปแล้ว

เพจเจอร์ของ Apollo Rugged Pager AR924 ที่ถูกระบุว่า เป็นรุ่นที่เกิดเหตุในครั้งนี้

เพจเจอร์จะเป็นเครื่องมือสื่อสารในรูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียว โดยจะทำหน้าที่เป็นเครื่องรับข้อความ ลักษณะคล้ายกับ SMS ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน แต่จะจำกัดจำนวนตัวหนังสือในการส่งข้อความ ตัวเครื่องก็จะมีข้อจำกัดในการเก็บ-รับข้อความไว้ในเครื่องด้วยเช่นกัน

การส่งข้อความจะต้องอาศัยการโทรไปยังผู้ให้บริการเพจเจอร์ และ แจ้งหมายเลขของเพจเจอร์ที่ต้องการส่ง พร้อมกับ “ข้อความ” ที่ต้องการส่ง ซึ่งทางผู้ให้บริการจะพิมพ์ส่งไปให้

ด้วยความที่เพจเจอร์ไม่มีลูกเล่นอะไรมากนักแบบสมาร์ทโฟน จึงทำให้การติดตามตัว ขโมยข้อมูล หรือถูกเจาะทำได้ยาก และหากใช้รูปแบบ “ข้อความ” ที่เป็น “รหัสลับ” เฉพาะตัวที่กำหนดขึ้นเองในกลุ่ม ก็จะทำให้ไม่ต้องกังวลว่า จะโดนดักฟัง เพราะแม้จะดักข้อความไปได้ แต่หากไม่รู้วิธีการถอดรหัส หรือความหมายของข้อความ ก็จะไม่สามารถตีความได้ ทำให้ได้รับความนิยมใช้เป็นช่องทางการสื่อสารของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ที่ต้องการเลี่ยงการติดตาม หรือ ดักข้อมูลจากอิสราเอล

เหตุการณ์เพจเจอร์ระเบิดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในขณะนี้ยังคงมีไม่มีใครยืนยันที่ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีการสันนิษฐานในหลายทฤษฏีด้วยกัน แต่ 2 แนวคิดที่ถูกพูดถึงมากคือ

แนวคิดแรก – เป็นการเจาะระบบ และส่งข้อความ หรือรหัส หรือสัญญาณบางอย่างให้แบตเตอรี่ร้อนจัดจนระเบิดขึ้น ซึ่งแบตเตอรี่ในเพจเจอร์รุ่นใหม่ จะใช้แบตเตอรี่แบบมือถือ และสามารถระเบิดได้

แต่แนวทางนี้ ดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหลายกรณีที่แบตฯ มือถือระเบิดนั้น จะร้อน มีควันและประกายไฟลุกขึ้นมาก่อนที่จะมีการระเบิด ทำให้ผู้ที่ใช้งานเพจเจอร์จะรู้ตัวได้ก่อนนั่นเอง

แนวคิดที่สอง – คือการ “แอบลอบ” ใส่เชื้อปะทุเข้าไปในเครื่อง และอาศัยการรับสัญญาณบางอย่างเพื่อจุดชนวนให้เชื้อปะทุนั้นเกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งในแนวทางนี้ ดูมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่ก็ยังคงมีคำถามที่ว่า การแอบติดตั้งนั้น เกิดขึ้นที่ขั้นตอนไหน ตั้งแต่โรงงานเลยหรือไม่? หรือในระหว่างการขนส่ง

ที่มาของเพจเจอร์

สำหรับเพจเจอร์ที่เกิดระเบิดขึ้นนี้ ถูกระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อ Apollo รุ่น Rugged Pager AR924 ของไต้หวัน มีแบตเตอรี่ลิเธียมและสามารถถอดเปลี่ยนได้ ใช้สาย USB ในการชาร์จไฟ มีระบบกันน้ำ-ฝุ่น ในระดับ IP67 หน้าจอทนแรงขีดข่วน ผ่านการทดสอลรับแรงกระแทกได้ในระดับ IK06 การตั้งค่าสามารถความถี่และแคปโค้ดต่าง ๆ ได้ผ่านทาง USB และแบบแมนนวล

โดยมีรายงานระบุว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการผลิตเพจเจอร์จากโรงงานในไต้หวัน และส่งต่อไปยังบริษัทในยุโรป ก่อนที่จะนำเข้าไปยังเลบานอน รวมแล้วประมาณ 5,000 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทโกลด์ อพอลโลของไต้หวัน ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า เพจเจอร์ในล็อตดังกล่าวนี้ ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทในยุโรปที่ได้สิทธิ์ในการผลิตและใช้ตราสินค้าของของทางบริษัท

การติดตั้งดินระเบิด-เชื้อปะทุ

ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นไปได้ของการใส่ “เชื้อปะทุ” เข้าไปในตัวเพจเจอร์นั้น น่าจะมาจากการอำพรางเชื้อประทุ หรือดินระเบิดไว้ในเครื่อง โดยมีลักษณะเป็นปลอมแปลงเป็นชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ รวมถึงมีการติดอุปกรณ์ หรือ ดัดแปลงโค้ดในการรับสัญญาณรหัสบางอย่าง เพื่อให้ทำการจุดระเบิดขึ้น

ซึ่งในขณะนี้ เริ่มมีความชัดเจนว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า มีการแอบติดตั้งเชื้อปะทุ หรือ ดินระเบิดอาจจะเกิดขึ้นในโรงงานในยุโรป ที่ได้รับสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายเพจเจอร์ ภายใต้ยี่ห้อ Gold Apollow ของไต้หวัน

หรือ อาจจะเป็นการลัดลอบในช่วงระหว่างที่เรือสินค้า จอดรออยู่ที่บริเวณท่าเรือ เป็นเวลาราว 3 เดือน เนื่องจากเลบานอนไม่ได้อนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทนี้ทันที จึงมีเวลาเพียงพอที่จะมีการแอบลักลอบติดตั้งดินระเบิดแรงสูงพีอีทีเอ็น (PETN – Pentaerythritol Tetranitrate) ฝังลงในแผงวงจร

ไม่ว่า การติดตั้งดินระเบิดแรงสูงจะเกิดขึ้นที่ขั้นตอนใดก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในหลายแหล่งระบุตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือน ทั้งในแง่ของความยากในการออกแบบให้สามารถติดตั้งดินระเบิดได้ และทำให้มันแน่ใจว่า มันจะไม่ระเบิดเสียก่อนที่จะได้รับสัญญาณจุดชนวน

ดังนั้น การออกแบบ ติดตั้ง รวมถึงการสั่งระเบิดนั้น ต้องอาศัยความสามารถอย่างเหลือเชื่อในการวางแผนทั้งหมดออกมาสำเร็จได้

ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเพจเจอร์ระเบิด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถูกระบุว่า เริ่มต้นในช่วงเวลาประมาณ 15:45 น. ตามเวลาท้องถิ่นวานนี้ จากคลิปวิดีโอ และพยานระบุว่า ได้ยินเสียงระเบิดเล็ก ๆ คล้ายประทัด หรือ เสียงปืนดังขึ้น และเห็นควันพวยพุ่งออกจากกระเป๋าของผู้บาดเจ็บ และการระเบิดนี้ เกิดขึ้นในหลายจุดด้วยกัน กินเวลาราว 1 ชั่วโมง หลังจากมีการรายงานการระเบิดครั้งแรก

จากข้อมูลที่มีรายงานอ้างว่า มีการส่งข้อความไปยังเครื่องเพจเจอร์ราว 3 ครั้ง ก่อนที่จะมีการระเบิดขึ้น โดยข้อความทั้ง 3 ครั้งส่งผลให้เครื่องเพจเจอร์เกิดข้อผิดพลาดบางอย่าง เมื่อเจ้าของเพจเจอร์หยิบหรือกดดูข้อความนั้น ก็ส่งผลให้เกิดการสั่นและระเบิดขึ้น

ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย และบาดเจ็บอีกราว 2,800 ราย ในจำนวนนี้ อาการสาหัสราว 200 ราย โดยส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณมือ ใบหน้า และลำตัว

นอกจากนี้ มีรายงานการเหตุระเบิดและผู้บาดเจ็บในประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากเลบานอน ด้วยเช่น ซีเรีย, สหราชอาณาจักร

อิสราเอลอยู่เบื้องหลัง?

การระเบิดในครั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า มอสซาด หน่วยข่าวกรองอิสราเอล และ กองทัพอิสราเอล ได้เปิดปฏิบัติการนี้ขึ้น และได้เริ่มมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ซึ่งในขณะนี้อิสราเอลยังคงไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

ทางด้านของสหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ รับรู้ใด ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนี้ และไม่ได้ระบุว่า อิสราเอลนั้น เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ทางด้านอิหร่าน ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว และเรียกว่า เป็นการก่อการร้ายของอิสราเอล เนื่องจาก เอกอัครราชทูตอิหร่าน Mojtaba Amani ก็ได้รับบาดเจ็บสูญเสียตาข้างขวา ส่วนตาข้างซ้ายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

ด้านกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ออกมาประกาศว่า อิสราเอลจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้นนี้ ในขณะที่เลบานอนก็ประกาศว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการรุกราน และก่ออาชญากรรมโดยอิสราเอล

คล้ายกับเหตุ “ระเบิดมือถือ” ลอบสังหารแกนนำ “ฮามาส” ในอดีต

เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ เคยเกิดขึ้นกับ ยะห์ยา อายาช หัวหน้าหน่วยผลิตระเบิดของกลุ่มฮามาส ที่ได้รับการขนานนามว่า “The Engineer” ที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อปี 2539 โดยในครั้งนั้น มีรายงานอ้างว่า หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลทราบว่า ยะห์ยา อายาช ได้ย้ายออกจากเขตเวสต์แบงค์ไปอยู่ในฉนวนกาซา ซึ่งได้ส่งสายเข้าประกบกับคนใกล้ชิด แอบขโมยโทรศัพท์ของ ยะห์ยา อายาช ออกมา ก่อนนำกลับไปคืน

ซึ่งหลังจากที่ ยะห์ยา อายาช ได้มีการใช้งานโทรศัพท์และอิสราเอลสามารถดักฟัง จนยืนยันว่า ผู้ใช้งานอยู่ในขณะนี้เป็น ยะห์ยา อายาช ก็ได้ส่งสัญญาณเข้าไปยังมือถือ และทำให้มือถือได้ระเบิดขึ้น จนยะห์ยา อายาช เสียชีวิต

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางการอิสราเอลไม่ได้ยอมรับ หรือ ปฏิเสธว่า อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารในครั้งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานอ้างว่า คนใกล้ชิดที่เป็นผู้ลักลอบนำมือถือออกมาให้ติดตั้งดินระเบิด RDX นั้น ได้รับค่าหัว 1 ล้านเหรียญ และได้รับการอพยพไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา หลังจากที่เกิดเหตุในครั้งนั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง