คัดลอก URL แล้ว
“นายกฯ อิ๊งค์” สั่งเยียวยาน้ำท่วมเร่งด่วน “ไม่เก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ เดือน ก.ย.

“นายกฯ อิ๊งค์” สั่งเยียวยาน้ำท่วมเร่งด่วน “ไม่เก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ เดือน ก.ย.

วันที่ 16 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) คณะกรรมการอำนวยการและบริการสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการการบริหารสถานการณ์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ จันทร รวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม

ภายหลังการประชุม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที และเมื่อมีปัญหาหรือการจัดการเรื่องการเยียวยาสามารถจะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้นมา รวมทั้ง คอส. ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และเพื่อทุกคนสามารถมาประสานงานกันได้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและชัดเจนในการทำงาน

โดยการตั้งคณะกรรมการฯ นี้ จะจัดการเรื่องน้ำในครั้งนี้ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลาย ส่วนสถานการณ์น้ำที่กำลังมาในทางภาคอีสาน ปริมาณน้ำเมื่อคืนถึงจะมีฝนตกหนักแต่ปริมาณน้ำไม่ได้กระทบ ทำให้น้ำเหนือมีปริมาณลดลง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ได้รายงานถึงทิศทางของน้ำว่ากำลังลดลงเรื่อย ๆ

ส่วนการเยียวยาจะต้องดูรายละเอียดกรอบการเยียวยาว่าจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือความรวดเร็วในการเยียวยา โดยในที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าความรวดเร็วจะต้องมาก่อน ทั้งนี้ การเยียวยาอยากให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนและตรงจุด เพราะหลายอย่างถูกตีกรอบการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้น เช่น ถ้าน้ำท่วม 3 วัน จะได้เงินเยียวยาเพียงแค่ 3 วัน แต่ความเป็นจริงน้ำท่วม 3 วันนั้นสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการปรับแก้ให้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนกรอบเยียวยากรณีบ้านเสียหายทั้งหลังยังคงยึดกรอบเดิมคือ 2.3 แสนบาท แต่จะมีการเยียวยาหลายหมวด และมีงบกลางที่สำรองไว้สำหรับเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะแล้ว ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน จึงมีความเห็นจะอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเยียวยาน้ำท่วม จำนวน 3,000 ล้าน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.)

นอกจากนี้ ได้พูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยว่าจะเยียวยาค่าน้ำค่าไฟ โดยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟในเดือนกันยายน และในเดือนตุลาคม จะลดค่าน้ำค่าไฟ 30% ซึ่งการตั้งมาตรการนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น หากเหตุการณ์น้ำท่วมยาวนานกว่านั้น เราสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดการเยียวยาได้ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของประชาชน รับทราบรายงานจากทางกองทัพว่ามีการระดมกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่มีปัญหาเรื่องของกำลังพลไม่เพียงพอจึงต้องให้กระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องของกำลังพล เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายได้เร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือทยอยลดลงแล้ว ส่วนประเด็นที่สาธารณรัฐประชาชนจีนปล่อยน้ำส่งผลให้เกิดน้ำท่วมนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการปล่อยน้ำในอัตราปกติ ไม่ได้เป็นส่วนที่ทำให้น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรองรับน้ำได้และกรุงเทพมหานครจะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเพิ่มเติมว่า เราทำตามกรอบเดิมทุกอย่างแต่แก้ปัญหาด้วยหัวใจสำคัญคือเรื่องความเร็ว ตรงนี้จะจัดการทันที ส่วนการเยียวยามากขึ้นกว่านี้ก็จะพิจารณาตามหลัง เพราะรอตรงนี้ก่อนอาจทำให้ช้า ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ที่นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งขึ้นจะมีการพูดคุยกันในวันพุธที่ 18 กันยายนนี้ เป็นวันแรก ซึ่งพิจารณาร่วมกัน ทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะไปประเมินร่วมกันออกมาเป็นข้อสรุป พร้อมทั้ง Time line

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าใน 2 ประเด็น คือ การส่งกำลังทั้งหมดเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดอุทกภัยต่าง ๆ มากขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วม การทำความสะอาดให้คืนสู่สภาพโดยปกติทันที ซึ่งจะดำเนินการจนกว่าเหตุการณ์จะปกติประมาณเดือนตุลาคม และคณะทำงานจะดูจากหน้างานและจะนำมาสรุปเพื่อแก้ปัญหาต่อไปไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้นายกฯ ได้มอบหมายคณะกรรมการฯ รับไปพิจารณาในรายละเอียด และนำเสนอเป็นระยะ ๆ ต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง