หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มการระบายน้ำ ส่งผลให้ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อน มีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแม่น้ำน้อย ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมใต้ถุนบ้านเรือน และสวนกล้วยของชาวบ้านแล้ว
เกษตรกรผู้ปลูกสวนกล้วย ต.บางหลวง อ.บางบาล บอกว่า น้ำจากแม่น้ำน้อย ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่สวนกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง ที่ปลูกไว้กว่า 300 ต้น กลางดึกคืนวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้นกล้วย เริ่มจมน้ำ และเน่าเสียหาย จึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่พอจะตัตขายได้ก่อน
โดยในส่วนของ “กล้วยไข่ และ กล้วยเล็บมือนาง” ที่ลูกยังโตไม่พอตัดขาย ก็ต้องปล่อยให้ถูกน้ำท่วมไป ส่วนหน่อกล้วย ก็ต้องเร่งขุดเก็บไว้ใช้เป็นพันธุ์เพาะปลูกในปีหน้า(2568)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ต.ทางช้าง อ.บางบาล ถูกน้ำจากแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมใต้ถุนบ้านสูง 50 เซนติเมตร จึงไม่สามารถนำรถไปจอดเก็บใต้ถุนบ้านได้ ต้องกางเต็นท์ริมถนนเพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ และจักรยานยนต์แทน
ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวเราเคยไปสำรวจราคากล้วยน้ำว้า ตามท้องตลาด พบว่า ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ขายกันหวีละ 25-40 บาท ปรับขึ้นเป็นหวีละ 50-60 บาท บางพื้นที่ราคาพุ่งไปหวีละ 80 บาท เพราะสวนกล้วยได้รับผลกระทบจากภาวะหน้าแล้ง และโรค รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน โดยพ่อค้าแม้ค้า ประเมินว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย มีสวนกล้วยได้รับผลกระทบมากขึ้น ก็อาจทำให้ราคากล้วยน้ำว้า พุ่งขึ้นไปถึงหวีละ 100 บาทได้