คัดลอก URL แล้ว
ส่งออกทุเรียนไทยสั่นคลอน หลังจีนตรวจพบปนเปื้อน “แคดเมียม”

ส่งออกทุเรียนไทยสั่นคลอน หลังจีนตรวจพบปนเปื้อน “แคดเมียม”

อุตสาหกรรมทุเรียนมูลค่าหลายแสนล้านบาทของไทยกำลังเผชิญวิกฤตใหม่อีกครั้ง หลังจากจีนตรวจพบการปนเปื้อนสารแคดเมียมในทุเรียนนำเข้าจากไทย โดยมีการแจ้งเตือนถึง 6 ครั้งในปีนี้

ด้านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินมาตรการเด็ดขาดกับผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนปนเปื้อน พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศ

ขณะที่กรมวิชาการเกษตรระบุว่า อยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน พร้อมขอความร่วมมือผู้ส่งออกที่กำลังจะส่งออกทุเรียนไปจีน ระหว่าง 2-16 กันยายนนี้ เก็บตัวอย่างทุเรียนเพื่อตรวจหาการปนเปื้อนแคดเมียม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยกรมจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง พร้อมยืนยันจีนยังไม่ระงับการส่งออกทุเรียนไทย

สำหรับเจ้าของล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพร ยังคงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อส่งออก แม้ขณะนี้ จีนจะมีการแจ้งเตือน พบทุเรียนไทยบางชิปเมนต์ที่ส่งออกไปจีนปนเปื้อนแคดเมียม

จากการสอบถาม นายบุญยัง อ่ำฉ้อน เจ้าของล้งทุเรียน จ.ชุมพร เผย เชื่อว่าทุเรียนที่พบการปนเปื้อน ไม่น่าจะเป็นทุเรียนที่ปลูกในไทย เพราะเกษตรกร ล้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงการทำทุเรียนคุณภาพ เพราะหากตรวจพบสารตกค้างจะกระทบการส่งออก ราคาที่เกษตรกรขายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

วันนี้ (29 ส.ค. 67) กรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา ด้าน ดร.ภัสชญชน หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ถึงปัจจุบัน จีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปนเปื้อนแคดเมียมมา 6 ครั้ง จำนวน 16 ชิปเมนต์ จากโรงคัดบรรจุ 12 ราย แหล่งผลิตจำนวน 15 สวน

โดยกรมวิชาการเกษตรสั่งระงับการส่งออกทันที ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่าง ทุเรียน ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต เพื่อหาการปนเปื้อน จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีตัวอย่างปนเปื้อนแต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด

เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ที่ส่งออกทุเรียนระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน นำตัวอย่างทุเรียน 5 ลูกต่อชิปเมนต์ มาตรวจการปนเปื้อนแคดเมียม ซึ่งจีนกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในอัตรา 800-1,200 บาท รวมค่าขนส่ง สำหรับจังหวัดชุมพรได้มีการประสานตลาดมรกตซึ่งเป็นตลาดกลางผลไม้ เป็นจุดรับตัวอย่าง ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สามารถนำตัวอย่างไปตรวจสอบได้ตามห้องปฏิบัติการ 6 แห่ง ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO พร้อมยืนยันว่า แม้จีนจะมีการแจ้งเตือนพบแคดเมียม แต่ยังไม่ได้ระงับการการนำเข้าทุเรียนจากไทย

นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มตรวจพบบ่อยครั้งขึ้น โดยต้องตรวจสอบตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก การขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ และสวนที่ได้ GAP เพื่อหาที่มาสาเหตุ

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่ 1 มกราคม-27 สิงหาคม 2567 ส่งออกไปแล้ว 714,334 ตัน มูลค่า 94,870 ล้านบาท

ส่วนทุเรียนผลสดนำเข้าจากกัมพูชา จำนวน 2 ชิปเมนต์ ปริมาณ 40,000 กิโลกรัมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง