นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า โดยทั่วไปแล้วการระบาดของฝีดาษลิงในขณะนี้ ยังไม่ได้มีการแพร่เชื้อที่ติดต่อได้ง่ายเหมือนโควิด-19 การติดเชื้อต้องอาศัยการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือนอนเตียงร่วมกัน ดังนั้นประชาชนทั่วไปจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดของโรคในทวีปแอฟริกา
นพ.ยง กล่าวต่อว่า เมื่อได้รับเชื้อฝีดาษลิง ผู้ติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-14 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการไข้ คอเจ็บ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายอาการไข้หวัดทั่วไป และหลังจากนั้น 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่มน้ำใสขึ้น ซึ่งจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน ตำแหน่งของตุ่มน้ำมักจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ก้น มือ และเท้า โดยจะมีลักษณะและระยะของตุ่มที่แตกต่างจากโรคสุกใส กล่าวคือ ตุ่มฝีดาษลิงจะอยู่ในระยะเดียวกันทั้งหมด และจะสุกพร้อมกัน มีลักษณะบุ๋มตรงกลางตุ่ม ผู้ป่วยอาจมีอาการนานถึง 2-4 สัปดาห์ กว่าตุ่มจะยุบและหายไปจนหมด ส่วนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 21 วัน
ในการป้องกันการระบาดของโรคฝีดาษลิงนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ รวมถึงสัตว์ฟันแทะที่อาจเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะสัตว์ที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลแปลกหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างชายรักชาย และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน นอกจากนี้ยังควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัย และติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างใกล้ชิด