สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กองควบคุมโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “ชูนวัตกรรม Salt Meter ตัวช่วยขับเคลื่อนมาตรการลดเค็ม” เปิดตัวเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ชื่อว่า “CHEM METER” ที่มีการพัฒนามาตรฐานการใช้งานกว่า 5 ปี โดยวิศวกรไทยมุ่งช่วยประชาชนลดการบริโภคเค็ม ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต
น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
ซึ่งในครั้งนี้ได้เปิดตัว CHEM METER นวัตกรรมที่ส่งต่อองค์ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ช่วยลดการบริโภคเค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทางคลินิก เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้ CHEM METER ในอาหาร และยังช่วยเอื้อความสะดวกต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกคน
“ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินงานลดบริโภคเค็มใน 4 ประเด็น 1.สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมรวมถึงผลักดันมาตรการและนโยบายในประเทศ เช่น สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียม น้ำปรุงลดโซเดียม ปรับสูตรลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน 2.สื่อสารรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” “ลดเค็ม ลดโรค” เพื่อให้ประชาชนตระหนักต่อผลกระทบทางสุขภาพ 3.ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 4.สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย พ.ศ. 2559-2568 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เช่น โครงการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี ชุมชนลดเค็ม 150 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้ CHEM METER เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและประเมินผล” น.ส.นิรมล กล่าว
ทางด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย ปี 2566 พบว่า ประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประชาชนบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเกินกว่าคำแนะนำ มีผลโดยตรงต่อความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมเร็ว ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50–60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป
“คนไทยนิยมกินส้มตำ ยำต่าง ๆ อาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัด จากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว อีกปัจจัยสำคัญคือการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย CHEM METER จึงพัฒนาให้เหมาะสมกับความเค็มของอาหารไทยที่มีค่าเกลือและไขมันค่อนข้างสูง ช่วยให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในอาหารและควบคุมการบริโภคเค็มในแต่ละวันได้อย่างแม่นยำ”
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวและเสริมอีกว่า CHEM METER จะเป็นตัวช่วยอย่างดีสำหรับทุกครอบครัว ระหว่างผู้ทำอาหารกับผู้ทาน หรือ ผู้ทานกับแม่ค้าทำอาหารเพื่อหาความพอดีระดับความเค็มของอาหารที่ปรุง และหลังจากใช้เครื่องวัดนี้ได้ประมาณ 3 เดือน จะช่วยให้ลิ้นรับรสความเค็มซึ่งไวต่อการรับรส สามารถปรับรสชาติความเค็มลงโดยอัตโนมัติ เพราะลิ้นของมนุษย์เป็นอุปกรณ์วัดความเค็มทางธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าปรับให้กลับมารับรสความเค็มในปริมาณปกติได้จนเป็นความเคยชินก็จะช่วยให้การบริโภคเค็มของประชาชนลดลงด้วย ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ อัตราการเจ็บป่วยจากโรค NCDs ลดลง และจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเค็มลดลงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับหนึ่งด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยและผลิตเครื่องมือลดเค็ม กล่าวว่า CHEM METER เป็นเครื่องตรวจวัดระดับความเค็มที่ผ่านการพัฒนามาแล้ว 4 รุ่น จนได้ค่าการวัดระดับความเค็มที่เสถียรและแม่นยำโดยเฉพาะการวัดระดับความเค็มของอาหารไทย เพราะการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือนี้เพื่อใช้วัดค่ากับอาหารไทยโดยเฉพาะ โดยใช้หลักการวัดการนำไฟฟ้าของโซเดียมคลอไรด์ ใช้งานง่ายเพียงแค่นำเครื่องจุ่มลงไปในอาหารที่เป็นน้ำ หรือถ้าเป็นอาหารแข็งก็ให้ละลายน้ำก่อนการวัดค่า ผลที่แสดงจากหน้าจอจะเป็นรูปหน้าอีโมจิทำให้เข้าใจง่าย คือ เค็มน้อย – หน้าดีใจ , เค็มปานกลาง -ใบหน้าเฉย ขมวดคิ้ว และ เค็มมาก-ใบหน้าเศร้า
นอกจากนี้ยังได้นำไปทดลองใช้แล้วกว่า 300 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี คลินิกเฉพาะทางด้านความดันโลหิตสูง ผลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน พบว่า สามารถวัดปริมาณโซเดียมในอาหารได้ดี ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนา CHEM METER รุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้การรองรับการส่งข้อมูลนำไปคำนวณปริมาณโซเดียมและแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบปริมาณโซเดียมในแต่ละวันได้ง่ายยิ่งขึ้น