วันที่ 30 กรกฏาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงปัญหาคนไร้บ้านที่ล่าสุดมี การเผยแพร่ภาพในโซเชียลมีเดีย คนไร้บ้านยึดป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านบางกะปิ เป็นที่นอนพัก ว่า เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ พอเห็นข่าวในสื่อ ก็สั่งการให้ตนแก้ปัญหาทันที ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการแก้ปัญหาคนไร้บ้านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ล่าสุด หลังที่นายกรัฐมนตรีได้โทรมากำชับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ลงพื้นที่ทันที เมื่อเวลา 22.30 น. เมื่อคืนนี้ โดยพบคนไร้บ้านทั้งหมด 5 คนเป็นชาย 3 คนและเป็นหญิง 2 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ 2 คน จากการพูดคุยทั้ง 5 คนไม่ประสงค์ ที่จะเข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยสาเหตุที่มาเร่ร่อน มีปัญหาเรื่องของรายได้ไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหากับครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลได้ จึงต้องออกมาเร่ร่อน รวมถึงมีผู้ที่พึ่งพ้นโทษแต่ก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นชีวิตตรงไหน
พร้อมกันนี้นายวราวุธ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้แจ้งข่าวเข้ามา หากพบเห็นคนเร่ร่อน/ ขอทาน และคนไร้ที่พึ่งขอให้แจ้งสายด่วน พม. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวราวุธ ยังกล่าวถึงสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งในปี 2562 มีประมาณ 2,700 คน ลดลงเหลือ 2,499 คนส่วนปี 2566 ลดลงเหลือ 2,499 คน ขณะที่ปี 2567 เฉพาะในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 500 คน ซึ่งในกรณีคนเร่ร่อนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ประมาณ 4,800 คน ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่งเริ่มจากป่วยทางจิต นานไปจะไม่ยอมเข้าบ้าน ส่วนใหญ่หากเจอจะเร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าบำบัด แต่ปัญหาคือเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธเข้ารับความคุ้มครอง ไม่สามารถทำอะไรได่ กฎหมายที่มีอยู่ควรจะต้องมีมาตรการที่จูงใจมากกว่านี้ รวมถึงมีความเข้มงวดให้เอาผิดทางกฎหมายได้ เพราะพอคนไร้ที่พึ่งปฏิเสธเข้ารับการคุ้มครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่สามารถที่จะไปจับหรือเอาตัวออกมาจากสถานที่ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นจะไปเข้ากฎหมายอื่นเช่น พ.ร.บ.อุ้มหาย แล้วจะเกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็อาจจะใช้กฎหมายอื่น ในการดำเนินการกับผู้ไร้ที่พึ่งหรือผู้ที่นอนอยู่ตามป้ายรถเมล์ เช่นพ.ร.บ.กีดขวางทางเท้า แต่บทลงโทษที่มีมันจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการจะเข้าระบบขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เมื่อไม่สมัครใจเหตุการณ์ก็จะวนอยู่เช่นนี้
นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมี กทม.ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา มีศูนย์คอยรับเช่นบ้านอิ่มใจ ที่รับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางต่างๆเพื่อให้มีที่พักพิงชั่วคราวและวางแผนในการใช้ชีวิต มีการฝึกฝีมือ และการเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ
นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้แนะนำให้ทั้ง 5 คนไปเข้าบ้านอิ่มใจ ของ กทม. พร้อมเล่าด้วยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบทั้ง 5 คนก็กระจัดกระจาย ออกจากพื้นที่หน้าป้ายรถเมล์ ไปอยู่พื้นที่อื่นแทน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เมื่อไม่ยอมเข้าระบบ ก็เหมือนแผลฝีแตกกระจายไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นตามกฎหมายและอำนาจของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำได้เพียงแค่เชิญพวกเขาเหล่านั้นเข้าสู่ระบบและพัฒนาทักษะฝีมือ และยังมีโครงการบ้านเช่าคนละครึ่ง รวมถึงการจัดหางาน แต่ด้วยพื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยเห็นคนลำบาก ก็มักจะช่วยเหลือ
ดังนั้นกลุ่มคนไร้บ้านและคนขอทาน เห็นคนใจบุญก็จะใช้โอกาสนี้อยู่เฉยๆ พร้อมยกตัวอย่างเวลาที่มีการแจกของ คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปรับของแจกบางครั้งก็จะเอาไปขาย ซึ่งการแจกของอาจเป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้านหรือขอทานเพิ่มขึ้นหรือไม่
พร้อมย้ำเรื่องขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่ยังมีขอทานเพราะได้รายได้ที่มาจากประชาชน วันนี้มาในหลายรูปแบบ มีการนำสัตว์เลี้ยง เด็กเล็ก หรือคนพิการ ซึ่งบางครั้งเป็นผลพวงมาจากการค้ามนุษย์ ขอให้ประชาชนหยุดให้ทานกับคนขอทาน