คัดลอก URL แล้ว
กองทัพเรือโชว์แสนยานุภาพฝึกยิงอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ ESSM จากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงตากสิน ถูกเป้าฝึกยิงโดรนอย่างแม่นยำ

กองทัพเรือโชว์แสนยานุภาพฝึกยิงอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ ESSM จากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงตากสิน ถูกเป้าฝึกยิงโดรนอย่างแม่นยำ

    วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยพลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมสังเกตการณ์การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น - สู่ - อากาศ แบบ ESSM (Evolved Sea Sparrow Missile) บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร โดยการฝึกยิงอาวุธครั้งนี้ ทำการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจำนวนสองนัดไปยังเป้าโดรน แบบ Banshee ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ โดยนัดแรกยิงด้วยลูกฝึกยิงโดรนจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ชนเป้าที่ระยะ 7 ไมล์ และนัดที่สองยิงด้วยลูกจริงจากเรือหลวงตากสิน ชนเป้าที่ระยะ 8.5 ไมล์ โดยการยิงอาวุธนำวิถีถูกเป้าครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำการยิงด้วยลูกจริง โดยอาวุธปล่อยถูกเป้าอย่างแม่นยำ ระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างถูกต้องสมบูรณ์ แสดงถึงความพร้อมของกำลังรบทางเรือในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

  โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบโอวาทแก่กำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก พร้อมทั้งขอบคุณและชื่นชมกำลังพลทุกนาย ที่ได้ทุ่มเทและเตรียมการในทําการยิงจนประสบความสําเร็จในวันนี้ โดยมีใจความสำคัญว่า

“ การฝึกยิง ESSM ได้กําหนดให้มีการฝึกยิงตั้งแต่ปีงบประมาณ 66 ที่ผ่านมา โดยพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งท่านก็ได้มาร่วมชมความสําเร็จในวันนี้ด้วย ผมขอขอบคุณท่านที่ได้กําหนดนโยบายและมอบแนวทาง ซึ่งพวกเราร่วมกันดําเนินการต่อเนื่องมาจนเป็นผลสําเร็จ ยิงเข้าเป้าอย่างแม่นยํา ด้วยการดําเนินการโดยกําลังพลและยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จะนําพากองทัพเรือไปสู่ความเป็นมืออาชีพ หรือทหารเรืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นภาคภูมิใจ และจะทําให้ทะเลไทยมีความมั่นคงสืบไป”

 สำหรับอาวุธปล่อยฯ แบบ ESSM เป็นอาวุธปล่อยฯ ที่กองทัพเรือได้จัดซื้อ มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยติดตั้งในเรือ 3 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน มีการนำวิถีแบบ Semi - Active ที่ได้รับการพัฒนามาจากอาวุธปล่อยฯ แบบ RIM - 7 หรือ Sea Sparrow Missile มีความเร็วมากกว่า 3 มัค หรือมากกว่า 3,675 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยิงได้ไกลมากกว่า 27.78 กิโลเมตร และยิงได้ที่ความสูง 11 กิโลเมตร ซึ่งการฝึกยิงในครั้งนี้เพื่อทดสอบความพร้อมของระบบการยิงอาวุธปล่อยฯ แบบ ESSM ในด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี รวมทั้งเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ของกำลังพลในการยิง
 จากนั้นในเวลา 17.00 น.  ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ได้เข้ารับฟังการแถลงผลและเป็นประธานปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 ณ หอประชุม กองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

   โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้โอวาทว่า “ขอให้การฝึกครั้งนี้ และที่จะมีขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นเครื่องมือในการทดสอบ ปรับแก้ไข สร้างความพัฒนาก้าวหน้า เพื่อให้กองทัพเรือ มีความพร้อมเมื่อต้องใช้กำลังจริง และเป็นเครื่องมือ ที่จะบอกกับประชาชนว่า กองทัพเรือ มีความพร้อมที่จะรักษา ความมั่นคงอธิปไตยและผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล และประชาชน มีความภูมิใจในความเป็นทหารอาชีพ ของพวกเรา”


 การฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่องในการฝึก ทร.65 และ การฝึก ทร.66 โดยการฝึก ทร.67 ในปีนี้เป็นการฝึกในสถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก มุ่งเน้นการทดสอบการปฏิบัติและการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการในสถานการณ์วิกฤตจนถึงขั้นป้องกันประเทศ การทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พ.ศ.2563 การทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการการฝึกระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังจากกองทัพบก และกองทัพอากาศเข้ามาสนับสนุน

การฝึกกองทัพเรือ 2567 แบ่งขั้นตอนการฝึกออกเป็นขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ หรือ CPX (Command Post Exercise) เป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ ตั้งแต่สถานการณ์ในภาวะปกติ สถานการณ์วิกฤติจนถึงขั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX (Field Training Exercise) เป็นการฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่าง ๆ
 สำหรับผลสรุปการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกของกองทัพเรือได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี 

ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการบูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า กำลังรบของกองทัพเรือ จะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติ โดยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง