คัดลอก URL แล้ว
“กรมประมง” ท้าเอกชนนำเข้าโชว์หลักฐานฝังกลบ “ปลาหมอคางดำ”

“กรมประมง” ท้าเอกชนนำเข้าโชว์หลักฐานฝังกลบ “ปลาหมอคางดำ”

วันที่ 17 กรกฏาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีเอกชน 1 ราย ได้ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อเดือนธันวาคมปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว เพื่อเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตบนเงื่อนไข 2 ข้อ 1. คือให้เก็บตัวอย่างครีบดอง และรายงานผลกลับมาที่คณะกรรมการ และ 2. เมื่อยกเลิกการวิจัยจะต้องทำลายและรายงานผลพร้อมส่งตัวอย่างกลับมาที่กรมประมง แต่บริษัทเอกชนดังกล่าวได้ยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไข

จนกระทั่งเกิดการระบาดของปลาหมอข้างดำในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงจึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่เลี้ยงของบริษัทแต่ได้รับการรายงานว่าได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบไปแล้ว และในขณะนั้นจุดฝังกลบได้มีสิ่งก่อสร้างปลูกทับ ตั้งแต่ปี 2554 จึงไม่สามารถไปขุดเพื่อพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อธิบดีกรมประมง ไม่สามารถยืนยัน ชัดเจนได้ว่า เอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้า มีส่วนที่ทำให้เกิดการระบาดในปัจจุบันหรือไม่ รวมถึงสาเหตุว่า การเข้าไปตรวจสอบหลุมฝังกลบจึงล่าช้าไป 6 ปี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้รับเรื่องนี้ไว้และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

อธิบดีกรมประมง บอกว่า หากบริษัทเอกชนมีหลักฐานการฝังกลบและการรายงานตัวอย่างมาที่กรมประมง ให้นำออกมาแสดง เพราะจากการตรวจสอบ ไม่พบว่า มีการอนุญาตให้เอกชนรายอื่นนำเข้าปลาหมอคางดำ หลังจากปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในขณะ นี้พบแล้วใน 16 จังหวัด ทางกรมประมงจึงได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งผ่อนผันการใช้ อวนรุน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ ได้ปล่อยลูกพันธุ์ปลานักล่าเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ประสานสมาคมผู้ผลิตปลาบ่นไทย เพื่อรับซื้อ ปลาหมอคางดำไปผลิต เป็นปลาป่น ในส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวกรมประมงได้วิจัยเพื่อปรับปรุงโครโมโซมปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษ เพื่อทำให้ลูกปลาหมอคางดำ เป็นหมัน คาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดภายในภายใน 3 ปี

ในการแถลงข่าววันนี้ ทางกรมประมง ได้นำเมนูที่ใช้ปลาหมอคางดำ มาให้สื่อมวลชนได้ลองชิม อย่างเมนู ปลาหมอคางดำทอดเกลือ , คั่วกลิ้ง , ทอดมัน , ขนมจีนน้ำยา , ขนมปั้นขลิบ ไส้ปลาหมอค้างดำ รวมถึงยังมีเครื่องปรุง อย่าง น้ำปลา ที่ทำมาจากปลาหมอคางดำ

ทีมข่าวลงพื้นที่ พูดคุยกับ นายกรวิทย์ ยอดแก้ว อายุ 49 ปี เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว บอกว่า ตามปกติเมื่อถึงระยะเวลาจับกุ้งจะได้กุ้งจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ตัน แต่วันนี้ตกใจมากเพราะมีปลาหมอคางดำอยู่เต็มบ่อ ส่วนกุ้งทั้งบ่อได้แค่ 2.6 ตัน ถือว่าน้อยกว่าปกติมาก จึงอยากให้ทางราชการช่วยเหลือเยียวยา เกษตรกรที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำโดยด่วนที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง