วันที่ 17 กรกฏาคม 2567 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อม รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน ผอ.ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พร้อมคณะ นำแถลงผลชันสูตรพลิกศพ ชาวเวียดนาม 6 คน ถูกวางไซยาไนด์ เป็นเหตุให้เสียชีวิตในโรงแรมดัง ย่านราชประสงค์
นพ.กรเกียรติ เผยว่า หลังจากได้นำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาชันสูตรพลิกศพที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพรวมศพทั้งหมดมี 6 คน หญิง 3 ชาย 3 เริ่มแรกมีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และทราบชื่อนามสกุลทั้งหมดทั้งเชื้อชาติที่ได้จากหลักฐานพยานหลักฐานงานสอบสวน เป็นสัญชาติเวียดนาม 4 อเมริกัน 2 ราย
แพทย์มีการประเมินระยะการเสียชีวิตอยู่ที่ 12 -24 ชม. โดยการประเมินได้มาจากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ การตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด พบว่าสอดคล้องกันทั้งหมด
นอกจากนี้ จากการดำเนินการตั้งแต่เมื่อคืน ประกอบด้วย
- มีการเก็บภาพหลักฐานของผู้เสียชีวิต
- เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ
- การใช้ซีทีสแกน ตรวจหาร่องรอยการถูกทำร้าย เบื้องต้นไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย
โดยในภาพรวม 6 ร่าง คุณลักษณะปรากฏสำคัญ มีร่องรอยของการขาดอากาศ ริมฝีปากเป็นสีม่วง มีปลายเล็บมือสีม่วงเข้ม ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการขาดอากาศร่วมด้วย และจากการตกสูงต่ำของเลือด พบว่าเลือดผู้ตายเป็นสีแดงสด เป็นลักษณะของผู้ได้รับสารพิษ
แพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของทุกราย สันนิษฐานว่าพิษของสารไซยาไนด์ ส่งผลให้เกิดการขาดอากาศในระดับเซลล์ ของระบบประสาทและหัวใจ จากการนำเลือดไปตรวจคัดกรองในห้องปฏิบัติการ ทั้ง 6 รายมีสารไซยาไนด์ในเลือด และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจในเชิงลึกเพื่อที่จะทราบว่าสารในเลือดมีปริมาณเท่าไหร่ และมีสารอื่นพิษปะปนมาด้วยหรือไม่
โดยนายแพทย์ฉันชาย ระบุว่า ระดับไซยาไนด์ในเลือดหากวัด 1-2 มิลลิกรัม/CC อาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต แต่หากได้รับเกิน 3 มิลลิกรัม/CC จะทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจะการสูดดมหรือทานเข้าไปในปริมาณสูง คนไข้จะมีอาการเหงื่อออกและชักเกร็ง ขาดออกซิเจนในสมอง หรือล้มฟุบในทันที เพราะการขาดออกซิเจนเฉียบพลัน หากได้รับในปริมาณไม่มากก็จะเริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นไข้ และค่อยๆมีอาการอื่น
ส่วนใครเสียชีวิตก่อนหลังอาจไม่สามารถระบุขนาดนั้นได้ เพราะตามหลักการแพทย์มีการประเมินระยะเวลาได้ แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าใครเสียชีวิตเวลาไหน เพราะมันมีทั้งเรื่องอุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมที่เกิดเหตุ จึงบอกได้เพียงช่วงระยะเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุกรายที่เสียชีวิต เหมือนกันทั้งหมด
โดยทีมแพทย์ เผยว่า ภายในวันศุกร์นี้ จะสามารถประเมินระดับไซยาไนด์ในเลือดได้ชัดเจน ส่วนการคัดกรองสารอื่นๆในเลือด คาดว่าจะใช่เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ด้าน พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. มอบหมายให้สืบนครบาล 5 และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามไล่เรียงไทม์ไลน์ของแต่ละคนว่าไปพบปะ หรือไปซื้อหาไซยาไนด์ได้อย่างไร