ปรากฎการณ์ปลาหมอคางดำระบาดรุนแรง ล่าสุดพบแพร่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะที่บึงมักกะสัน เขตราชเทวี มีชาวบ้านกว่า 100 คน มาจับปลาที่ลอยน็อคอยู่บนผิวน้ำจำนวนมาก ทั้งปลานิลและปลาหมอคางดำ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากสำนักการระบายน้ำเร่งลดระดับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี เผยว่านี่เป็นครั้งแรกที่พบปลาหมอคางดำในพื้นที่ และจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการปัญหาต่อไป
ทางด้าน จ.นนทบุรี ก็พบปลาหมอคางดำระบาดในคลองนายแฉ่ง อ.บางบัวทอง โดยชาวบ้านระบุว่าเริ่มพบตั้งแต่ต้นปี และเพิ่มปริมาณมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นายสุริยา เผือกขาว ผู้ใหญ่บ้าน เผยว่าชาวบ้านไม่ได้ตระหนักถึงปัญหามากนัก เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และแยกไม่ออกระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิล แต่ตอนนี้ได้แจ้งให้สำนักงานประมงอำเภอเข้ามาตรวจสอบแล้ว เพราะกลัวจะกระทบกับผู้เลี้ยงกุ้งและปลา
ล่าสุด กรมประมงเตรียมปล่อยปลากะพงขาว 3 หมื่นตัว เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ แต่ชาวบ้านไม่มั่นใจว่าจะได้ผล เพราะปลากะพงขาวไม่ได้กินเฉพาะปลาหมอคางดำ แต่กินสัตว์น้ำชนิดอื่นด้วย ซึ่ง นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยว่าขณะนี้พบปลาหมอคางดำระบาดแล้วที่ อ.ระโนด จ.สงขลา และอาจลุกลามสู่ทะเลสงขลาด้วย
ด้าน มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ชี้ว่าการจัดการปัญหาของกรมประมงยังขาดหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเลือกใช้วิธีที่ยังไม่มีการวิจัยรองรับ อย่างการปล่อยปลากะพงขาวให้กินปลาหมอคางดำ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาระบบนิเวศได้ โดยไบโอไทยเพิ่งมีการประชุมร่วมกับ 191 องค์กรสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทางออก และจะแถลงมาตรการอีกครั้งหลังกรมประมงแถลงนโยบายแก้ปัญหาในวันที่ 17 ก.ค.นี้