คัดลอก URL แล้ว
กกต. ลุยตรวจเอกสารสมัคร สว. กว่า 40,000 คน แจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่

กกต. ลุยตรวจเอกสารสมัคร สว. กว่า 40,000 คน แจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่

วานนี้ (29 มิ.ย.2567) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ว่าที่ สว. 200 คน และผู้ที่มี “ชื่อ” อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ก่อนประกาศผลในราชกิจจานุเบกษา

ล่าสุดนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก เน้นย้ำคำว่า “สิทธิสมัครรับเลือก-สมัครเป็นเท็จ-รับจ้างสมัคร” มีความแตกต่างกันในแต่ละกรณี โดยอ้างอิง คำสั่งของศาลฏีกา และชี้แจงระเบียบ กกต., กฎหมายการได้มาซึ่ง สว. และรัฐธรรมนูญ

กรณีให้สิทธิประชาชนสมัครรับเลือกทุกคน และสามารถอยู่ในกลุ่มใด-กลุ่มหนึ่งได้ แต่ก็ระบุที่จะตรวจสอบเอกสารของผู้สมัครทุกคน ทั้ง 40,000 กว่าคน หากพบว่า แจ้งข้อความอันเป็นเท็จจะดำเนินการตามมาตรา 74 ของกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกต. ออกเอกสาร เผยแพร่แจ้งความคืบหน้าว่าก่อนประกาศผลการเลือก สว.ในราชกิจจานุเบกษาและแจ้งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่าง ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของผู้ที่ได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์รับเลือกเป็น สว. หรือผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีสำรอง

และหากพบว่าตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการเลือก สว.ไม่เป็นไปโดยสุจริต-เที่ยงธรรมนั้น กกต.จะดำเนินการ ตามมาตรา 60 ของกฎหมาย พร้อมอ้างอิงตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด

สำหรับกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 มาตรา 60 กำหนดไว้ว่า ก่อนประกาศผล ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัคร-ผู้ใด กระทําหรือรู้เห็น ทําให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริต-เที่ยงธรรม ให้สั่งระงับสิทธิสมัครไม่เกิน 1 ปี และยื่นต่อศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนมาตรา 74 ผู้ใดรู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีสิทธิ ต้องโทษจําคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอน สิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ในกรณีนี้ ผู้กระทําผิด เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ให้ศาลสั่งคืนเงินตอบแทนและประโยชน์ตอบแทน ให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง