คัดลอก URL แล้ว
เปิดวิธีรับมือ “อาการแพ้อาหาร” ให้ปลอดภัยก่อนถึงโรงพยาบาล

เปิดวิธีรับมือ “อาการแพ้อาหาร” ให้ปลอดภัยก่อนถึงโรงพยาบาล

“ภาวะแพ้อาหาร” เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต่ออาหารบางชนิด ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ในร่างกาย ปัจจุบันพบว่ามีประชากรราว 1-10% ที่มีภาวะนี้ โดยพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วชนิดต่างๆ อาหารทะเล และแป้งสาลี

อาการแพ้อาหารแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non-IgE-Mediated Food Allergy) เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ค่อยๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรังโดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง

ชนิดเฉียบพลัน (IgE-Mediated Food Allergy) มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน30 นาที-1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้

ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย

การวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบทางผิวหนัง การตรวจเลือด และการทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร ซึ่งต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การรักษาที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และเตรียมพร้อมรับมือกับอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้โดยพลการ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะแพ้อาหารควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

วิธีรับมือ “อาการแพ้อาหาร” ให้ปลอดภัยก่อนถึงโรงพยาบาล

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ควรพก เอพิเนฟริน (Epinephrine) แบบฉีด ซึ่งเป็นอะดรีนาลีน (Adrenaline) สังเคราะห์ ติดตัวไว้ เช่น เอพิเนฟรินในรูปแบบปากกา (EpiPen) ซึ่งสามารถฉีดสารนี้เข้าสู่กล้ามเนื้อต้นขาของผู้ป่วยได้ทันทีในขณะเกิดอาการ โดยผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด รวมถึงคนในครอบครัว ควรทราบวิธีการใช้อุปกรณ์ฉีดเอพิเนฟรินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะหากเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการฉีดเอพิเนฟรินเพื่อพยุงอาการ จากนั้นจึงรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

การแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอ คือ ต้องไปตรวจให้รู้ว่าตนเองนั้นแพ้อาหารประเภทไหน แล้วพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้และระมัดระวังในการเลือกกินอาหารทุกครั้ง รวมถึงพกพายาที่จำเป็นตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อนำมากินหรือใช้ได้อย่างทันทีเมื่อจำเป็น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติได้เหมือนคนทั่วไป

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลเปาโชคชัย 4 , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง