คัดลอก URL แล้ว
สทนช. เดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝนเต็มกำลัง

สทนช. เดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝนเต็มกำลัง

สทนช. ผนึกกำลังทุกหน่วยงานขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 หลัง ครม. เปิดไฟเขียว มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีเอกภาพ เน้นวางแผนล่วงหน้าในเชิงรุก ผนวกกับการคาดการณ์ปริมาณฝน สภาพภูมิอากาศ และพายุ
หมุนเขตร้อนที่พัดผ่านประเทศไทยอย่างแม่นยำ มั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะไม่รุนแรง ซ้ำรอยมหาอุทกภัยในปี 2554 อย่างแน่นอน

ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ขณะนี้ สทนช. ได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว พร้อมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ กนช. ยังได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่สภาวะลานีญาซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนนี้อีกด้วย โดยแผนงาน/โครงการภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าแต่ละหน่วยงานจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 67 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์น้ำหลากและสภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จากการที่หลายภาคส่วนมีข้อกังวลว่าในปีนี้อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า จะเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจะต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567 นั้น สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ (สสน.) ได้บูรณาการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ฝน ตลอดจนสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องพบว่า สถานการณ์ในปีนี้แตกต่างจากปี 2554 หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝนในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่ปี 2554 ฝนตกอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% อีกทั้งพายุหมุนเขตร้อนที่พัดผ่านประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 1-2 ลูก แต่ในปี 2554 มีพายุมากถึง 5 ลูก จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 5.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในช่วงปี 2554 ยังกระจัดกระจายขาดเอกภาพ
มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 48 หน่วยงาน ก่อให้เกิดปัญหาความทับซ้อนในเชิงโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ การใช้งบประมาณ เพราะไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลบริหารจัดการในภาพรวม แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพมากขึ้น ภายหลังจากการจัดตั้ง “สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ขึ้นมาเมื่อ ปี 2560 เพื่อทําหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายหลักในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไปประเทศไปสู่การปฏิบัติในปัจจุบัน ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมา ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ในระดับชาติ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)
ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทํานโยบายและ
แผนแม่บท ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ ส่วนในระดับลุ่มน้ำ มีจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมาขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ และในระดับพื้นที่ มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในปัจจุบัน จึงมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหา
ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

“สำหรับนโยบายการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันก็แตกต่างจากในอดีต ปัจจุบันจะเน้นการดําเนินงานเชิงรุก คือเป็นการเตรียมการรับมือก่อนเกิดปัญหา รวมทั้งยังได้มีการบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำหลากและจัดจราจรการระบายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เช่น
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล – ลุ่มน้ำชี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกําหนดทิศทางและนโยบายในการบริหารจัดการน้ำให้เกิด
ความยั่งยืน เกิดประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น สร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ นําพาความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำให้กับประเทศ และหากมีแนวโน้มเกิดภาวะวิกฤติก็จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย” ซึ่งจะมีหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์อย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง