กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) จัดงานการประชุม “การชี้แจงแนวปฏิบัติในการรับทุน(Orientation) สำหรับผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ประจำปี 2567” ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 09.30 - 16.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการชี้แจงนโยบายและทิศทางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของ บพค. กระบวนการบริหารจัดการทุนทั้ง Pre-Award และ Post-Award เงื่อนไขและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการรับทุน บพค. การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ให้ผู้รับทุนวิจัย ปี 2567 กว่า 600 คน รับทราบและสร้างความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ข้างต้น รวมทั้งได้พบปะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ บพค. ผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างประชาคมนักวิจัย
จากพันธกิจสำคัญของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการให้ทุนการศึกษา ทุนสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรอื่นหลังปริญญา ทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการสร้าง Foundation ของประเทศ ทุนภายใต้ภายใต้แผนงานธัชวิทย์ และทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อประยุกต์และพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจ BCG พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคต รวมทั้งอุตสาหกรรมอวกาศ
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. เปิดเผยว่า ในปี 2567 บพค.ให้การสนับสนุนทุนด้านการพัฒนากำลังคนที่เป็น กำลังคนสมรรถนะสูง หรือ High Calibers” ในสาขาที่เป็น Demand driven ของประเทศ ได้แก่ Carbon verifier,Bioinformatician,ด้านสื่อสร้างสรรค์และสื่ออิเลกทรอนิกส์,AI, Flavorist และ Cyber Security สำหรับงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เน้นประเด็นวิจัยด้าน Personalized Medicine, Future Food, High Energy Physics & Plasma, Fusion Technology , Quantum Technology, Earth Science and Space, AI, Digital Technology, Climate Change, Creative Content รวมทั้งการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้าน ววน. เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 150 โครงการ โดยเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพค. จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ งานการประชุมวิชาการดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวง อว.และประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. เป็นประธานเปิดงาน โดยได้กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศ และ กำลังคนสมรรถนะสูง หรือ High Calibers เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนี้ นักวิจัยทุกท่านในงานวันนี้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถและศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำความรู้และทักษะที่มีมาสำรวจและค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาคำตอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ หรือสังคมศาสตร์ งานวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศในทุกด้าน สำหรับการจัดงานในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้นักวิจัยได้มาพบปะกับผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ทีมงานของ บพค. รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยด้วยกัน เพื่อรับทราบแนวทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บพค. รวมทั้งแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการรับทุน ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจกระบวนการวิจัยแบบ Strategic Fund ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจน
ในงานนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ 2 เรื่อง เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักวิจัยและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานวิจัยทั้งด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับขั้นแนวหน้า ประกอบด้วย 1)การบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บพค.” โดย รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ และ 2)การบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวคิดและเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรวิจัยทักษะสูงภายใต้แผนงานธัชวิทย์ (Thailand Academy of Science: TAS) และแผนงานการพัฒนานักวิจัยสมรรถนะสูงในระดับหลังปริญญาโท หลังปริญญาเอก เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (PMU-B fellowship and frontier research for future industry)” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผู้ก่อตั้ง TAS
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเสวนาและการบรรยาย ที่มีเนื้อหาเข้มข้น ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่ เสวนา : แนวทางการเสนอขอรับทุน แนวทางการบริหารจัดการโครงการวิจัย และเงื่อนไขที่ต้องพึงปฏิบัติ เพื่อให้แนวทางการบริหารจัดการทุนของ บพค. ตามยุทธศาสตร์ของแผนด้าน ววน. แนวทางทางการเสนอขอรับทุน กระบวนการพิจารณาข้อเสนอโครงการและการจัดทำสัญญา การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโครงการวิจัย การบริหารโครงการวิจัยและการปิดโครงการ เงื่อนไขที่ต้องพึงปฏิบัติ และสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมของโครงการ รวมทั้งบทบาทของ Agile Team ในการหนุนเสริมการทำงานของ บพค. และ ยังมีการบรรยายเชิงลึกสำหรับกลุ่มนักวิจัยที่รับทุน Postdoctoral/Postgraduate และทุนธัชวิทย์ เรื่อง “แนวปฏิบัติการรับทุน Postdoc และ Reskill- Upskill” และ “แนวปฏิบัติการบริหารจัดการทุน ธัชวิทย์ (TAS)” เพื่อสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการโครงการเพื่อมุ่งผลสำเร็จเรื่องการพัฒนากำลังคน ระเบียบการเบิกจ่าย หมวดเงินเดือน และหมวดสวัสดิการ การนำส่งสิ่งส่งมอบ/ผลผลิต/ผลลัพธ์ และ เป้าหมายของการพัฒนากำลังคนทักษะสูง (อาชีพเป้าหมาย) เป็นต้น และในงานนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ทำความรู้จักและพบปะกับผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมงานของ บพค. ซึ่งถือว่าทุกคนเป็นครอบครัว บพค. และยังทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยที่มาจากหลากหลายหน่วยงานทั่วประเทศ เพื่อที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติต่อไป