คัดลอก URL แล้ว
พอช.ติดปีกคนชุมชน ผนึกกรมส่งเสริมสหกรณ์ เสริมความรู้วางรากฐานชาวบ้านจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

พอช.ติดปีกคนชุมชน ผนึกกรมส่งเสริมสหกรณ์ เสริมความรู้วางรากฐานชาวบ้านจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

นายสยาม นนคำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเผยว่า วันที่ 11 – 12  มิถุนายน  ที่ผ่านมา สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดเวทีพูดคุยสร้างความเข้าใจการพัฒนาระบบสหกรณ์ โดยมีตน ผู้แทนจากสหกรณ์ชุมชนริมราง รวม 10 สหกรณ์ และเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง รวมกว่า 70คนเข้าร่วมปรึกษาหารือพูดคุย ณ ห้องประชุมไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 พอช. ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าวตนมีโอกาสชี้แจงความสำคัญการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางภายใต้สหกรณ์เคหสถาน เช่น เงื่อนไขการขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)แทนสมาชิก จึงมีความจำเป็นในการบริหารจัดการโดยนิติบุคคล “สหกรณ์” เพื่อมีบุคคล มาบริหารจัดการสหกรณ์ในการบริหารโครงการ เพราะโครงการบ้านมั่นคงริมราง ต้องเริ่มต้นมาจากชุมชนภายใต้กลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งต้องมีกติกาให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องมีการออมทรัพย์ในกลุ่มรวมถึงข้อตกลงในการบริหารจัดการกลุ่ม

“ผมได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่านอกจากเรื่องสหกรณ์แล้ว ชุมชนต้องคำนึงถึงการได้มาซึ่งที่ดิน การพัฒนาโครงการ การรักษาโครงการและความร่วมมือกันในการจัดระบบการบริหารชุมชนเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนไปด้วย ซึ่งการพูดคุยในช่วงท้ายผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความรู้ความเข้าใจ อาทิ การบริหารจัดการและการปิดบัญชี จะทำอย่างไรให้แต่ละสหกรณ์มีความเข้มแข็ง โดยได้วางเป้าหมายไว้สหกรณ์ทุกที่ต้องปิดบัญชีได้ สิ่งสำคัญคือได้รับความร่วมมือจากทุกกลุ่มและองค์กร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง“ นายสยาม ระบุ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวด้วยว่า การพูดคุยเวทีดังกล่าว พอช.ได้รับเกียรติ จากนายมนตรี ปาป้อง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสหกรณ์บริการมาให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้แทนชุมชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ บทบาทของกรรมการสหกรณ์ อำนาจตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ อำนาจตามข้อบังคับสหกรณ์  บทบาทของสมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหกรณ์ สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ได้ สนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารสหกรณ์ และความร่วมมือ โดยสมาชิกทุกคนต้องเป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน สหกรณ์จะประสบความสำเร็จได้ ต้องเกิดจากการร่วมมือจากสมาชิก สมาชิกทุกคนต้องยึดถือข้อปฏิบัติในข้อบังคับระเบียบร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ที่สหกรณ์จะได้รับเป็นหลัก  ที่สำคัญต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการบริหารจัดการสหกรณ์กับผู้แทนเครือข่ายฯด้วย
 
นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้าโครงการฯ ได้ร่วมชี้แจงแนวทางในการสนับสนุนงบประมาณ โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง และเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งบสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และที่อยู่อาศัย งบสนับสนุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแบ่งเบาภาระครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้งบประมาณในแต่ละหมวดการจัดเก็บเอกสาร และการติดตามสอบทาน ให้กับผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม รวมถึงได้ชี้แจงเงื่อนไขการขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงริมราง เป็นต้น
 
 ทั้งนี้พอช. กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง โดยมีวัถุประสงค์ เผยแพร่ความรู้การสหกรณ์แก่กลุ่มออมทรัพย์ ที่ พอช.จัดตั้งขึ้น รวมถึงการกำหนดแนวทางในการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ให้ความรู้ด้านการดำเนินกิจการสหกรณ์ ผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งในการบริหารและดำเนินงานของสหกรณ์ โดย พอช. รวมคนที่มีความประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์ให้ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์และสิทธิในที่ดิน ดำเนินการสนับสนุนการจัดอบรมผลักดันให้สหกรณ์มีการจัดพนักงานจัดทำบัญชี และมีแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน อีกทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดหลักสูตรการอบรมให้ความรู้การจัดทำบัญชีและการจัดทำงบการเงิน สนับสนุนวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี การแก้ไขปัญหาด้านการเงินและการบัญชีให้กับสหกรณ์ ภาพรวมเหล่านี้ เพื่อร่วมกันผลัดดันให้สหกรณ์เคหสถานมีความเข้มแข็ง ชุมชนมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งบริหารจัดการโดย สหกรณ์เคหสถาน โดย การทำงานที่บรูณาการและวางเป้าหมายร่วมกันในปี 2567 ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สมาชิก การจัดการที่ดิน สนับสนุนการแปรรูป สินค้าเกษตรประกอบธุรกิจของชุมชน ป้องกันปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์  และสิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ เป็นต้น.