นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ( องค์การมหาชน) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงกรณีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.)สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎรนำคณะกมธ.ดังกล่าวลงพื้นที่ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์ ชุมชนมิตรภาพ,และสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงแก่นนคร จำกัด จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 6 มิ.ย.ว่า ช่วงวันที่ 5-7 มิ.ย.ที่ผ่านมา กมธ. สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมธิการฯ นายกัณตภณ ดวงอัมพร โฆษกคณะกรรมาธิการ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ,พร้อมคณะกรรมมาธิการฯ มีกำหนดการศึกษาดูงาน พอช.ในจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ในการนี้ได้มีการลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟและสหกรณ์ในโครงการบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีตน , นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง นายเอกชัย กสิพัฒนวงค์ หัวหน้าทีมออกแบบและก่อสร้าง นายอาณากร มาศอมรพันธ์ สมาชิกสภาเทศบาลนครขอนแก่น และเครือข่ายที่อาศัยเมืองขอนแก่น ให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ดังกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯให้ความสนใจภารกิจการแก้ปัญหาและช่วยเหลือคนรากหญ้า กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอย่างมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์,ชุมชนมิตรภาพ ทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงบริบทพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง และ ผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาในด้านอื่นๆ ดังนี้ 1.)ชุมชนมิตรภาพจำนวน 140 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงซึ่งจำเป็นต้องย้ายไปสร้างบ้านในที่ดินใหม่ 2.) ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์ (หลังฟาร์ม) 29 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากการพัฒนารถไฟรางคู่สามารถปรับขยับในที่ดินเดิมได้ พร้อมติดตามกลุ่มเปราะบางในชุมชน
ส่วนการลงพื้นที่สหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงแก่นนคร จำกัด ซึ่งเป็นชุมชนที่แก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย โดยมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางย้ายไปแล้วส่วนหนึ่งและครัวเรือนที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมีการสำรวจปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง โดยมีสมาชิกปัจจุบัน จำนวน 341 ครัวเรือน และจะมีการขยายโครงการเพิ่มเติมอีก 27 ครัวเรือน โดยทางสหกรณ์มีแผนจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบตึกสูงเพื่อรองรับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบในส่วนที่เหลือต่อไป ทั้งทางคณะกรรรมาธิการฯเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ดีและมีความสำคัญที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเป็นอย่างดี.