คัดลอก URL แล้ว
กทม. แจง งบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับติดสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ” ใหม่

กทม. แจง งบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับติดสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ” ใหม่

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีที่มีข้อสงสัยว่า กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท โดย กทม.ได้หาตัวผู้รับจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรนิกส์ (e-Bidding) โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ (70%) ประกอบเกณฑ์ราคา (30%) ดูบริษัทที่มีจุดเด่นและประสบการณ์ด้านการออกแบบ เป็นที่ยอมรับ

ซึ่งระหว่างดำเนินการได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบและภาพลักษณ์องค์กรตลอดทั้งกระบวนการ เพื่อให้กำหนดการใช้อัตลักษณ์ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) สำหรับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์เหมาะสม มีมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างการรับรู้และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย

  1. ระบบตราสัญลักษณ์ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน ตราสัญลักษณ์แบบอักษร ตราสัญลักษณ์หน่วยงานในสังกัด กทม. ข้อกำหนดการนำไปใช้
  2. ระบบสี ได้แก่ ระบบสีหลัก ระบบสีรอง ระบบสีสัญลักษณ์ และข้อกำหนดการนำไปใช้
  3. ระบบตัวอักษร ได้แก่ ชุดตัวอักษรหลักภาษาไทย – อังกฤษ (เสาชิงช้า) ชุดตัวอักษรรองภาษาไทย – อังกฤษ (อนุพันธ์ และไทยสารบัญ) และข้อกำหนดการนำไปใช้
  4. ลวดลายกราฟิกอัตลักษณ์ จำนวน 2 ชุด
  5. หลักเกณฑ์การใช้ภาพถ่ายประกอบกับตราสัญลักษณ์
  6. ชุดภาพและระบบสีของชุดภาพสัญลักษณ์
  7. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์บนสื่อต่าง ๆ สำหรับการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ สื่อออนไลน์ทั่วไป , ข่าวทั่วไป , เทศกาลต่าง ๆ การให้ข้อมูลในรูปแบบอินโฟกราฟิก การอ้างอิงคำพูด การประกาศ รูปแบบ VDO
  8. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์สำหรับงานต่าง ๆ ได้แก่ งานนำเสนอ (Powerpoint Template) , การพิมพ์โปสเตอร์ , การพิมพ์ฉากหลัง , การพิมพ์แผ่นพับ , การพิมพ์ประกาศนียบัตร , จอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง , ใต้รางรถไฟฟ้า , สื่อ VDO , การขึ้นชื่อและตำแหน่งบนวิดีโอ , เว็บไซต์
  9. การนำอัตลักษณ์ไปใช้กับวัสดุ , อุปกรณ์ และป้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการ (ตัวอย่างการออกแบบ) เช่น สมุดโทรศัพท์ , ถุงกระดาษ , กล่องพัสดุ , จานอาหาร , จานรองแก้ว แก้ว , แก้วเซรามิค , สมุดปากกา , ดินสอ , ป้ายชื่อประจำโต๊ะ , นามบัตร , บัตรแสดงตน , สายคล้องบัตรแสดงตน , บัตรผู้มาติดต่อ , เสื้อโปโล , เสื้อยืด , เสื้อแจ็คเก็ต , เน็กไท , หมวกแก๊ป , รถยนต์ , รถกระบะ , รถตู้ , รถบัส , รถบรรทุก , รถขยะ , รถจักรยานยนต์ , ถังขยะ , ป้ายหน้าหน่วยงาน/ส่วนราชการ , เคาน์เตอร์บริการประชาชน และข้อกำหนดการนำไปใช้
  10. ตราสัญลักษณ์ประเภทเคลื่อนไหวสำหรับงานวิดีโอ ความยาว 2 วินาที 5 วินาที 10 วินาที 15 วินาที
  11. คู่มืออัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง