นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) พร้อมด้วย นายเสกสกล อัตถาวงศ์ และนายธนวัฒน์ ปัญญาสกุลวงศ์ กรรมการ กนอ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โดยได้เข้ารับฟังรายงานสรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการดูแลประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมและขอบคุณผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนช่วยในการควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดีในครั้งนี้ด้วย
“ผมได้แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้อง นำเหตุการณ์นี้มาถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ครั้งนี้ถือว่าสามารถระงับเหตุได้ทันต่อสถานการณ์ และไม่ลุกลามไปยังถังข้างเคียงซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้ได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
จากนั้น ประธานกรรมการ กนอ. และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ณ ชุมชนหนองแฟบ จังหวัดระยอง พร้อมทั้งให้ความมั่นใจกับผู้ได้รับผลกระทบว่า ทางบริษัทฯ พร้อมเยียวยาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดย กนอ. และจังหวัดระยอง พร้อมให้การช่วยเหลือ ส่วนเรื่องของสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ คงต้องใช้เวลาตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใดต่อไป
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ในวันนี้ (11 พ.ค.67) ได้ไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทีมผจญเพลิง และรับฟังแผนการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้กำชับ ขอให้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการโดยรอบ ที่สำคัญ ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยความระมัดระวังสูงสุด อย่างไรก็ตาม กนอ. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้ให้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานบางส่วน ดังต่อไปนี้ 1.หยุดการใช้งานถังบรรจุสารเคมีหมายเลข TK-1801 และ TK-1701 รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการตรวจสอบ ประเมิน วิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความปลอดภัยโครงสร้างความแข็งแรงของถังบรรจุสารเคมี โดยต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก (Third Party) 2.หยุดการใช้งานชั่วคราวถังบรรจุสารเคมีหมายเลข TK-4701 เพื่อตรวจสอบด้านความปลอดภัย 3.ตรวจสอบระบบความปลอดภัยและระบบดับเพลิงทั้งโรงงาน 4.ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง 5.ดำเนินการจัดการน้ำเสีย สารเคมีที่เกิดขึ้นจากการระงับเหตุให้ถูกต้องตามกฎหมาย 6.ติดตามตรวจสอบผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อชดเชยหรือเยียวยาอย่างเหมาะสม 7.กำหนดมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ ในระยะสั้นและระยะยาว 8.หากมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของโรงงานในส่วนของพื้นที่ข้างต้น ให้บริษัทฯ ขออนุญาต กนอ. ก่อนดำเนินการทุกครั้ง