คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดินหน้ากระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ 1 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลงจากการที่ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการสรรหาระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 9 เมษายน 2567 ณ จุดรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และเปิดให้ประชาชนส่งข้อมูลของผู้สมัครให้คณะกรรมการสรรหาฯ ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567
คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยผู้แทน 9 คน ได้แก่ 1.ประธานศาลฎีกา (ประธานกรรมการ) 2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ 5.ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง 6.ผู้แทนผู้ตรวจการแผ่นดิน 7.ผู้แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 8.ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ 9.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะลงมติเลือกผู้ที่ผ่านความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อให้ความเห็นชอบในลำดับต่อไป
การเปิดรับสมัครครั้งนี้มีผู้สนใจยื่นใบสมัครทั้งหมด 18 คน โดยเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยคะแนนเสียง 88 ต่อ 80 และงดออกเสียง 30 เสียง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก ส.ว. เปิดเผยว่า มีกระแสข่าวว่าผู้สมัครบางรายที่มาจากสายกระบวนการยุติธรรม พยายามประสานกับบางฝ่าย เช่น ตำรวจ อดีตผู้สมัคร ป.ป.ช.บางคน และฝ่ายการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ช่วยผลักดันให้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ โดยอ้างว่าเคยมีบุญคุณในการช่วยเหลือสั่งไม่ฟ้องบางคดีให้กับฝ่ายการเมืองมาก่อน
ซึ่งหากการสรรหานี้มีลักษณะเป็นการต่างตอบแทนกันและกัน ก็อาจทำให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นขาดความเป็นกลางและอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งยังมีกระแสข่าวเชิงลบว่าผู้สมัครรายดังกล่าวมีปัญหาในการทำงาน ทำให้ถึงแม้หากผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการฯ แต่ก็อาจถูกโหวตไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เนื่องจาก ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คนมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ว. 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ (9 มิ.ย.) ระดับจังหวัด (16 มิ.ย.) และระดับประเทศ (26 มิ.ย.) คาดว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกกต. และนักวิชาการประเมินว่า กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. อาจเกิดการร้องเรียนกันเองของผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม ส่งผลให้กระบวนการรับรอง ส.ว.ชุดใหม่อาจล่าช้า และไม่ครบจำนวน 200 คน ซึ่งจะทำให้ ส.ว. ชุดเก่าที่กำลังจะหมดวาระยังต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไป
โดยมีการคาดการณ์ว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา อาจเรียกประชุม ส.ว. ชุดปัจจุบันในเดือนมิถุนายน เพื่อลงมติเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ที่ผ่านการสรรหามาจากคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯ จะกำหนดวันประชุมเพื่อลงมติสรรหาผู้ที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อใด