นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าและข้อสรุปโครงการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น
ส่งผลนำไปสู่การจ้าง งาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาใน รูปแบบของภาษี และยังถือเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของ ระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯจะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2 – 1.6% จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet ได้แนวทางการดำเนินโครงการ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ดังนี้
- กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีจะมีเกณฑ์ ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือน ที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
- เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น2กลุ่ม
2.1 กลุ่มแรก คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกาหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 กลุ่มสองคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในเชิงพื้นที่ และขนาดของร้านค้าระหว่างร้านค้ากับร้านค้าด้วยกัน
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับ ร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่าย ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
- สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯได้ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
- การใช้จ่ายภายใต้โครงการ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเอง โดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
- คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้ เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
- ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
- เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการ คณะกรรมการ ได้มีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ และที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานมีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดการดำเนินโครงการ และระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไขและเป็นไปตามระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการในประเด็นต่างๆ ด้วย
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แหล่งเงินของโครงการจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่งได้แก่
1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท
3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดาเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษา เสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัย การเงินการคลังอย่างเคร่งครัด มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
ทั้งนี้ในการดำเนินการต้องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอยู่ภายใต้ขอบเขต หน้าที่และอานาจของหน่วยงานของรัฐด้วย