ที่ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี มีแหล่งน้ำดิบจากบ่อน้ำขุมเหมืองเหรียญชัย ที่สำรองน้ำไว้ จำนวน 620,000 ลูกบาศก์เมตร และบ่อน้ำเอกชนประมาณ 120,000 ลูกบาศก์เมตร และโรงผลิตน้ำ RO ซึ่งนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำประปา สามารถผลิตได้วันละ 600 ลูกบาศก์เมตร
แต่ปริมาณน้ำทั้งหมดนี้ แม้การประปาส่วนภูมิภาคจะสลับการจ่ายน้ำ ก็คาดว่า จะมีสำรองใช้ได้อีกประมาณแค่ 2 เดือนเท่านั้น เพราะในแต่ละวันจะมีการใช้น้ำบนเกาะพะงันประมาณ 3,500-4,000 ลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ยังเริ่มเห็นได้ชัดบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งรถบรรทุกน้ำของบริษัทเอกชน เริ่มทยอยนำน้ำที่ถูกสั่งซื้อไปตระเวณส่งให้ลูกค้ารอบเกาะ โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่บนพื้นที่สูง และแรงส่งของน้ำประปาไปไม่ถึง ซึ่งปัญหาภัยแล้งบนเกาะสมุย เริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว
ด้านนายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย บอกว่า ผู้ประกอบการต้องลงทุนซื้อน้ำมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจการท่องเที่ยว เพิ่มมากกว่าที่อื่น ๆ 2- 3 เท่าตัว ซึ่งในระยะยาว อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะน้ำเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็น จึงอยากให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหานี้ในระยะยาว
“การต้องซื้อน้ำทำให้เรามีต้นทุนสูงกว่าที่อื่น ๆ บางพื้นที่ไม่เกิดการท่องเที่ยว ไม่เกิดการลงทุน เพราะว่าน้ำเข้าไม่ถึง บางที่มีธุรกิจโรงแรม แต่แรงดันน้ำไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นการตั้งปั๊มน้ำเสริมแรงดัน หรือ บูสเตอร์ปั๊ม ก็จะทำให้เกิดการลงทุน หรือการกระจายตัวของการท่องเที่ยว แทนที่จะกระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง”
แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำในพรุต่าง ๆ ถูกยืนยันจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเกาะสมุย ว่า ยังคงมีประมาณเต็มความจุ โดยพรุกระจูด และพรุนาเมือง มีแห่งละประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร และพรุเฉวง 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร
และยังมีน้ำเติมจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี และสาขากาญจนดิษฐ์ ที่ส่งน้ำผ่านท่อลอดส่งน้ำมาให้เพิ่มขึ้นวันละ 5,000 ลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่จะส่งน้ำประมาณวันละ 22,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองน้ำไว้ตลอดหน้าแล้ง ที่มีความต้องการใช้สูง เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน
ซึ่งในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าว่า จะมีตัวเลขของนักท่องเที่ยวบนเกาะสมุย สูงถึงประมาณ 2,400,000 คน ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน