คัดลอก URL แล้ว
ไขข้อข้องใจ “ดื่มแอลกอฮอล์หน้าร้านสะดวกซื้อ = ผิดกฎหมาย?”

ไขข้อข้องใจ “ดื่มแอลกอฮอล์หน้าร้านสะดวกซื้อ = ผิดกฎหมาย?”

จากกรณีชายหนุ่มถูกปรับ 1,000 บาท ข้อหาดื่มสุราในที่สาธารณะ ขณะนั่งดื่มแอลกอฮอล์อยู่ท้ายรถกระบะที่จอดอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ โดยทางตำรวจได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เจ้าหน้าที่ได้เขียนใบสั่งปรับผิดพลาด เนื่องจากควรเป็นข้อหาดื่มสุราบนรถในที่สาธารณะ เพราะจอดรถในบริเวณจอดรถของร้าน ไม่ใช่บนถนน

จากนั้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้กล่าวถึงกฎหมายห้ามดื่มในที่สาธารณะว่า เดิมห้ามดื่มที่ปั๊มน้ำมันด้วยเหตุผลที่คำนึงถึงความปลอดภัย ต่อมาได้ขยายห้ามไปยังพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ทางเดิน , ไหล่ทาง หรือลานสำหรับจราจร รวมถึงการดื่มบนรถไม่ว่าจะเป็นผู้ขับหรือผู้โดยสาร

สำหรับการจอดรถและดื่มหน้าร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นพื้นที่เอกชน รวมถึงการซื้อเครื่องดื่มออกมาดื่มบริเวณหน้าร้านทันที จะถือเป็นการดื่มในพื้นที่สาธารณะหรือไม่นั้น นายธีระ ระบุว่ากฎหมายของไทยไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน แตกต่างจากบางประเทศเช่นสิงคโปร์ที่ถือว่า “พื้นที่ใช้ร่วมกันทั้งหมด เป็นสาธารณะ และห้ามดื่มทุกแห่ง”

และหากจะให้มีความชัดเจนในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หน้าร้านสะดวกซื้อ ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น เกี่ยวกับใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท 2 โดยแยกประเภทอย่างชัดเจนระหว่างการขายปลีกเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และการขายพร้อมนั่งดื่มในร้าน เพื่อห้ามไม่ให้ผู้บริโภคดื่มหน้าร้านสะดวกซื้อหรือบริเวณโดยรอบได้อย่างชัดเจน

สำหรับโทษ และการดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่ม มีดังนี้

  1. วัด หรือ สถานที่ประกอบศาสนกิจ
  2. สถานที่บริการสาธารณสุขของรัฐ
  3. สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล , สโมสร
  4. สถานศึกษา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล , สโมสร
  5. ปั๊มน้ำมัน
  6. สวนสาธารณะของทางราชการ
  7. สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศ

หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 42 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิงจาก มาตรา 31 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

อ่าน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพิ่มเติม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง