คัดลอก URL แล้ว
“อ.พวงทอง” ตอบดราม่า อัญเชิญพระเกี้ยว ชี้ “นิสิตไม่ได้ทำล้อเล่น” แนะเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่

“อ.พวงทอง” ตอบดราม่า อัญเชิญพระเกี้ยว ชี้ “นิสิตไม่ได้ทำล้อเล่น” แนะเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่

จากกรณีที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ “พระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ประจำปี 2024 จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย นั้น คณะผู้จัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ได้ออกมาชี้แจงความหมายของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว

ทางคณะผู้จัดงานระบุว่า การอัญเชิญสัญลักษณ์ต่างๆ มาในขบวนพาเหรดนั้น มีเจตนาในการคัดสรรสัญลักษณ์ตัวแทนองค์ความรู้แขนงต่างๆ อาทิ เกียร์ตัวแทนของวิศวกรรมศาสตร์ สเลทฟิล์มตัวแทนของนิเทศศาสตร์ และหนังสือเล่มหนาตัวแทนของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนการอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น ทางคณะผู้จัดงานให้ความหมายในฐานะตัวแทนขององค์ความรู้อันล้ำค่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ควรได้รับการยกย่องและเคารพนับถือ โดยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นแต่อย่างใด

ล่าสุด รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก Puangthong Pawakapan ระบุข้อความว่า

“ขอบอกพวกไดโนเสาร์ว่านิสิตเขาไม่ได้ทำเล่นๆ เขาตั้งใจคิดและทำกันเต็มที่ และยังให้เกียรติกับสัญลักษณ์ของจุฬาฯด้วย”

“โดยขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวถูกรายล้อมไปด้วยสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่างๆ ได้แก่

เข็มฉีดยาและขวดชมพู่ ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
หนังสือเล่มหนา ตัวแทนของ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ไม้ฉากเรขาคณิต ตัวแทนของ คณิตศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
เกียร์ ตัวแทนของ วิศวกรรมศาสตร์
สเลทฟิล์ม ตัวแทนของ นิเทศศาสตร์
ดัมเบล ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์การกีฬา
จานสี ตัวแทนแห่งศาสตร์ศิลปะ
“สัญลักษณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่กับจุฬาฯ ที่ได้พัฒนาวงการต่างๆ ในไทยและในระดับโลก ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง”

“และอีกสิ่งประดับตกแต่งขบวนที่ทุกท่านจะเห็นได้นี้ คือ ‘อะตอม’ ที่ส่วนเล็กๆ รวมกันกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนิสิต บัณฑิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมแรงร่วมใจไปสู่การเป็นสถาบันเสาหลักที่ยั่งยืน”

“อีกทั้งขบวนยังถูกตกแต่งด้วยดอกไม้จากพลาสติกที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของงานนั่นคือ Unity to Sustainability และร้อยเรียงเป็น ‘พวงดอกกล้วยไม้ที่ผลิบาน’ ดั่งโบราณว่า กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”

พร้อมทิ้งท้ายว่า “จงแก่แต่กาย แต่อย่าปล่อยให้ใจและสมองแก่ตามไปด้วยเลย หัดเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่บ้างเถอะ”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง