คัดลอก URL แล้ว
กรมการขนส่งทางราง กำชับ EBM เร่งแก้ไข-เพิ่มความถี่ซ่อมบำรุง “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง”

กรมการขนส่งทางราง กำชับ EBM เร่งแก้ไข-เพิ่มความถี่ซ่อมบำรุง “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง”

วานนี้ (30 มีนาคม 2567) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางรางลงพื้นที่ติดตามวิเคราะห์หาสาเหตุ และการแก้ไขปัญหาการเดินรถ เนื่องจากเหตุแผ่นเหล็ก (finger plate) พร้อมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง และส่งผลให้รางนำไฟฟ้า (conductor rail) ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงด้านในค้างอยู่ด้านบนทางเดินยกระดับ (walkway) ระหว่างสถานีกลันตัน(YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ปรับการบริการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่เต็มรูปแบบ ดังนี้

ส่วนช่วงสถานีหัวหมาก (YL11) – สถานีศรีเอี่ยม (YL17) ความถี่ในการเดินรถ 25 นาที/ขบวน

โดยผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีศรีเอี่ยมและสถานีหัวหมาก ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางช่วงสถานีหัวหมาก (YL11) – สถานีศรีเอี่ยม (YL17) ต้องรอขบวนรถนานกว่าปกติ

ทั้งนี้ ผู้โดยสารกรุณาเผื่อเวลาในการเดินทาง โดยผู้โดยสารสามารถติดตามเวลาขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น THE SKYTRAINS และหากมีการเปลี่ยนแปลง เรื่องเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จะแจ้งให้ทราบต่อไป พร้อมทั้งปรับลดค่าโดยสารร้อยละ 20 จนกว่าจะเดินรถได้ตามปกติ

ดร.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า น็อตที่ยึดแผ่น (finger plate) บริเวณรอยต่อรองรับการขยายตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) หลุดและขาดออกจากตำแหน่งที่ติดตั้ง ระหว่างสถานีสวนหลวง ร.9(YL15) กับสถานีศรีอุดม (YL16) ฝั่งทิศทางมุ่งหน้าปลายทางสถานีสำโรง (YL23) ส่งผลให้ แผ่นเหล็ก (finger plate) ดังกล่าวหล่นลงมาที่พื้นด้านล่าง จำนวน 1 ชิ้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางได้เน้นย้ำให้ EBM ตรวจสอบสภาพการขันทอร์คของน๊อตที่ยึด แผ่นเหล็ก (finger plate) บริเวณ expansion joint ของคานทางวิ่ง (guideway beam) ทั้งหมด พร้อมทั้งพิจารณาเปลี่ยนน๊อตบริเวณดังกล่าวทั้งหมดตลอดเส้นทาง และพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าให้มีความมั่นคงแข็งแรง และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งดำเนินการเคลื่อนย้ายรถไฟฟ้าที่ยังคงติดค้างระหว่างสถานีบนเส้นทาง และติดตั้งรางนำไฟฟ้าให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบบริเวณ expansion joint เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง